วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: พลังชุมชนท้องถิ่น : แนวทางการปฎิรูปประเทศไทย

คอลัมน์: บทความพิเศษ: พลังชุมชนท้องถิ่น : แนวทางการปฎิรูปประเทศไทย
บุญยิ่ง ประทุม
อาจารย์ประจำหลักสูตรการพัฒนาชุมชน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนของสังคม หลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศถึงแผนปรองดอง 5 ข้อ โดยสรุป คือ 1) การปกป้องสถาบันหลักของชาติคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ 2) การแก้ไขปัญหาส่วนโครงสร้างความไม่เสมอภาคและความเหลื่อมล้ำของสังคม 3) การมีกลไกที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนให้มีบทบาทในการลดความขัดแย้งของสังคม 4) การมีกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วิกฤติการเมือง 5) การแก้ไขประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ทั้งหมดเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิดและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไว้หลากหลายแนวทาง ผู้เขียนขอเสนอมุมมองการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้วยพลังของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นได้มีกระแสความตื่นตัวและการขับเคลื่อนสังคมในทิศทางต่างๆ และการพัฒนาองค์กรภาคประชาชนได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ที่สำคัญไม่ใช่เป็นเพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนขึ้นมาเท่านั้น แต่ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้และพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่น ที่มีความเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ท้องถิ่น วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น และยกระดับองค์ความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนได้ไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งในอดีตนักวิชาการหรือนักพัฒนาส่วนใหญ่ได้ยึดถือแนวคิดทฤษฎีของตะวันตกเป็นหลักนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศนั้นได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ของชุมชนที่มีอยู่ในประเทศซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้กับกระบวนการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
ดังนั้น การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้วยพลังชุมชนท้องถิ่น จึงมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาชุมชน และเมื่อมาพิจารณาถึงคำว่า “การพัฒนาชุมชน” (Community Development) ซึ่งมิได้มีความหมายเหมือนกับ การพัฒนาโดยทั่วไป แต่เป็นคำที่มีความหมาย เป้าหมาย ปรัชญา แนวคิด หลักการและการดำเนินการที่แตกต่างไปจากคำว่า “การพัฒนา” (Development) โดยทั่วไปก็คือ ปรัชญาการพัฒนาชุมชนมุ่งพัฒนาและให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด แต่การพัฒนาโดยทั่วไปมุ่งพัฒนาทางด้านวัตถุ เศรษฐกิจหรือพื้นที่เป็นหลัก, การพัฒนาชุมชนเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนอย่างมาก แต่การพัฒนาโดยทั่วไปไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนมากเท่าที่ควร หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพอเป็นพิธีหรือเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น, การพัฒนาชุมชนมีแนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและปกครองตนเอง โดยรัฐคอยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ในขณะที่การพัฒนาโดยทั่วไปมีส่วนสำคัญทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอก, การพัฒนาชุมชนเน้นขั้นตอนการดำเนินการ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด การตัดสินใจ การวางแผน ลงมือปฏิบัติและการประเมินผล แต่การพัฒนาโดยทั่วไปมุ่งที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก เป็นต้น ทำให้เห็นทิศทางของการพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมาที่ได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1-10 มาเป็นทิศทางในการพัฒนาประเทศไทย และแผนพัฒนาฯ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน คือ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยมุ่งพัฒนาคนเป็นหลักและนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และมีความสอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาชุมชนที่ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาประเทศ ดังเช่น อาจารย์สัญญา สัญญาวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงลักษณะของชุมชนเข้มแข็งไว้โดยสรุป 4 ประการ คือ 1) เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) กล่าวคือ การที่ชุมชน (คนในชุมชน) มีการเรียนรู้ และรู้เท่าทันข่าวทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งการที่ชุมชนมีการเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ 2) เป็นชุมชนที่มีการจัดการตนเอง (community management) ด้วยระบบการบริหาร จัดการในกิจกรรมที่สำคัญ 4 ประการ คือ การวางแผน การจัดกระบวนการขององค์กรภายในชุมชน การลงมือปฏิบัติตามแผนงาน และมีการประเมินผล 3) เป็นชุมชนที่มีจิตวิญญาณ (spirituality) กล่าวคือ ชุมชนมีจิตสำนึก มีจิตวิญญาณ ซึ่งอาจหมายถึงความภักดี ความรัก ความหวงแหน ความรู้สึกเป็นเจ้าของในชุมชน โดยมีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกันในชุมชน 4) เป็นชุมชนที่มีสันติภาพ (peaceful) กล่าวคือ เป็นชุมชนที่มีความสงบสุขและคนในชุมชนมีจิตใจที่เยือกเย็น มีคุณภาพ และมีคุณธรรม
ดังนั้น แนวทางการปฏิรูปประเทศและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกภาคส่วนของสังคมปัจจุบัน โดยใช้กระบวนการพัฒนาชุมชน และองค์กรชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกและเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก ส่งเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) ของกลุ่มองค์กรชุมชน ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ตลอ
ดจนเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการพัฒนาประเทศได้โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดวิถีทางในการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศ โดยอาศัยพลังของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศและทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย.

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/tpd/928784

บทความเรื่องแนวทางการพัฒนาชุมชนฝึกฝนเศรษฐกิจพอเพียง

แนวทางการพัฒนาชุมชนฝึกฝนเศรษฐกิจพอเพียง  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
                ชุมชนฝึกฝนเศรษฐกิจพอเพียง  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เป็นชุมชนที่เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาเศรษฐกิจพอเพียง  สิ่งที่จะพัฒนาชุมชนจึงควรสอดคล้องกับการศึกษา  ซึ่งในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา  ก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตามเหตุปัจจัยและจำนวนสมาชิกของชุมชนหรือศักยภาพของชุมชนที่จะสามารถก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองให้ได้
แนวทางการพัฒนาชุมชน
ควรเริ่มต้นที่การพัฒนาบุคคลของชุมชน ควบคู่กับกิจกรรมของชุมชน คือบุคคลากรภายในชุมชนจะต้องเป็นผู้ทีมีจิตในการพัฒนา  คือ พัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็งในด้านของคุณธรรมที่สูงขึ้นไปและพัฒนาศักยภาพการงาน  โดยผ่านการศึกษาที่ต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษานี้ไม่จำเป็นที่จะต้องให้บุคคลภายนอกมาให้ความรู้มากนัก  แต่คือการศึกษาที่ คิด ทำ และเกิดขึ้นภายในชุมชน
                การพัฒนาด้านจิตใจนั้น ให้ทุกคนฟังธรรมและตรวจสภาวะจิตใจของตนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1ครั้ง เพื่อให้เกิดการขัดเกลาตนเองและการขัดเกลาร่วมกัน ส่วนการพัฒนางานนั้นควรพัฒนาจากส่วนกลางโดยการประชุมร่วมกันเพื่อให้ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่แตกต่างกันออกไป และเป็นสิ่งที่ชุมชนมีความจำเป็นและเป็นความต้องการของชุมชน การประชุมเป็นประชาธิปไตยที่ให้ทุกคนมีโอกาส มีสิทธิเห็นควรในการปฏิบัติ เพื่อสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์มีประโยชน์แก่ชุมชน
                กิจกรรมของชุมชนที่มีอยู่แล้วและปฏิบัติกันมา คือ ด้านกสิกรรม ที่มีการพัฒนาพื้นที่มาตลอด 4 ปีทำให้สภาพดินมีความสมบูรณ์ขึ้นมาก สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มคือ การที่สามารถปลูกพืชไว้ใช้และเพียงพอต่อกาสรบริโภคต่อบุคคลากรของชุมชน แนวทางที่จะพัฒนาคือ ควรมีการปลูกพืชที่เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถเก็บใบ ดอก ฝัก ไว้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้น่าจะมีการปลูกพืชที่ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย และมีพืชตามฤดูกาล เพื่อรองรับสมาชิกของชุมชนได้อย่างสมบูรณ์
                ด้านการแปรรูป เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของชุมชนเพราะชุมชนมีความจำเป็นในการใช้จ่าย  การพัฒนางานแปรรูปคือ งานแปรรูปที่มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว ควรจะทำต่อไป  ส่วนงานแปรรูปที่ผลิตแล้วไม่คุ้มค่าก็ควรจะเลิกหรือหาทางในการพัฒนาให้ดีขึ้นก่อน การแปรรูปจึงไม่จำเป็นต้องทำหลายอย่างแต่ทำสิ่งที่มีให้ดีและมีผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้
อย่างไรก็ดีการจะทำให้เกิดการพัฒนานั้นทุกคนต้องมีจิตในการให้อภัย เสียสละยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความจริงจัง ใฝ่รู้ใฝ่เรียนสม่ำเสมอและมีความรับผิดชอบจึงจะสำเร็จได้


ที่มา : https://sites.google.com/site/xibaxey/bthkhwam-reuxng-naewthang-kar-phathna-chumchn-fukfn-sersthkic-phx-pheiyng

การพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเอง

        พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนของการกระจายอำนาจ พ.ศ2542 มีผลทำให้หน่วยงานของรัฐพยายามปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องพระราชบัญญัติดังกล่าว ประชาชนในชุมชนก็มีความตื่นตัวในการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนมากขึ้น การกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนทำให้การพัฒนาชุมชนขึ้นอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นทั้งสิ้นและผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและโครงการ วิชาการก็คือเจ้าหน้าที่ภาครัฐในชุมชชนบทนั่นเอง ดังทนงศักด์ ได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ว่าต้องกระตุ้นให้ประชาชนได้รู้ ได้เข้าใจ ถึงแนวคิด หลักการวิเคราะห์ ปัญหาของชุมชน และให้ประชาชนตระหนักว่าเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคนในชุมชน มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง (ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ และคนอื่น ๆ .2534: 18) การกระทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าตนเองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปราย ถกเถียง พิจารณาปัญหาต่างๆ ในชุมชนของตนเองด้วย จะรู้สึกร่วมรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ เหมือนเป็นปัญหาของตนโดยแท้จริง
การพัฒนาชุมชนไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้วยการจัดกิจกรรมในด้านใดย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานการสนับสนุน ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้เป็นประการสำคัญ หากสิ่งใดเกินกว่าความสามารถของประชาชนเช่นทางด้านวิชาการและวัสดุที่จำเป็น รัฐบาลย่อมเข้าให้การช่วยเหลือเพื่อโครงการ กิจกรรมของราษฎรบรรลุผลด้วยดี ทั้งนี้โดยวิธีการ “ทำงานกับประชาชน (work with people) หมายถึงร่วมคิด ร่วมปรึกษา และร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ทำให้ประชาชน (Work for people) แต่ฝ่ายเดียว ” (จิตจำนงค์ กิติกีรติ, 2525 : 54)
แนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองเป็นแนวคิดที่เหมาะสมที่เหมาะสมที่จะใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมของกลุ่มประเทศทางตะวันตกได้ดี เพราะอาศัยพื้นฐานวัฒนธรรมทางตะวันตกเป็นแนวคิดหลัก และทฤษฎีการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองเป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นจากการได้ประจักษ์ถึงความบกพร่องของการพัฒนาตามกระแสหลัก เช่นทฤษฎีทางพุทธศาสตร์ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง (ทฤษฎีใหม่) ซึ่งอาคม กล่าวว่าทฤษฎีการพัฒนาแบบพึ่งตนเองเป็นทางเลือกเพื่อการพัฒนาประเทศอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของกลุ่มประเทศโลกที่สาม จากนักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์หลายๆประเทศ โดยอาศัยรากฐานการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาว่า ภายใต้กระบวนการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียบางประเทศและประเทศแถบละตินอเมริกา ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแท้จริงหรือไม่แต่ผลปรากฎจากการที่ได้กล่าวถึงไว้แล้วในทฤษฎีความด้อยพัฒนาและการพึ่งพิงนั้นก็พบว่าประเทศในโลกที่สามต้องตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดมา การกระจายความเจริญกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง ความมั่งคั่งก็ตกอยู่กับผู้นำประเทศเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ความยากจนของประชาชนในชนบทก็ยังปรากฏอยู่ทั่วไป ถึงแม้ผู้นำประเทศจะพยายามแสดงให้เห็นถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการพิจารณาจากรายได้ประชาชาติ ซึ่งเป็นการมองเพียงภาพรวมระดับประเทศที่มิได้คำนึงถึงความเป็นจริงระดับบุคคลว่า รายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กระจายไปทุกระดับหรือไม่ (อาคม ใจแก้ว, 2534 : 75)
แนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองเป็นสิ่งที่นักพัฒนาและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ชุมชนชนบทควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา : จิตจำนงค์ กิติกีรติ. 2525. การพัฒนาชุมชน. กรุงเทพ : คุณพินอักษรกิจ
ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ และคนอื่น ๆ. 2534. การพัฒนาชุมชนเชิงปฏิบัติ. กรุงเทพ : บพิธการพิมพ์
อาคม ใจแก้ว. 2534. ทฤษฎีการพัฒนาประเทศ. ปัตตานี : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

บทความ การพัฒนาชุมชนแออัดที่ผิดทาง (มาโดยตลอด)

ในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด มีความเข้าใจผิดบางประการ ทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่อาจบรรลุผลได้ และกลายเป็นการกระทำที่ใช้ภาษีอากรของประชาชนไปอย่าง "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" ความจริงเป็นอย่างไร โปรดพิจารณาเหตุผลในแง่มุมที่ท่านอาจไม่เคยได้ยินต่อไปนี้:

            1. ชุมชนแออัดโตเร็วกว่าการแก้ไข?
            ข้อความข้างต้นนี้ตรงกันข้ามกับความจริงโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ชุมชนแออัดลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจมาโดยตลอด ที่ผ่านมามีชุมชนแออัดเกิดใหม่บ้างแต่ก็น้อยมาก ไม่เหมือนเมื่อ 40 ปีก่อนที่ที่ดินราคาถูก เจ้าของที่ดินเลยแบ่งเป็นแปลงย่อยให้ชาวบ้านเช่าที่ปลูกบ้านจนกลายเป็นชุมชนแออัด สมัยนี้ที่ดินราคาแพงลิบลิ่ว เจ้าของที่ดินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่คงไม่ปล่อยปละละเลยที่ดินของตนให้ใครเช่าหรือบุกรุกได้ง่าย ๆ
            รัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลเท็จว่า ชุมชนแออัดผู้มีรายได้น้อยมีมากมายมหาศาล จนเกิดโครงการ "บ้านเอื้ออาทร" และ "บ้านมั่นคง" แต่ความจริง ความต้องการที่อยู่อาศัยมีน้อยมาก สิ่งที่สร้างขึ้นกลับกลายเป็นการ "เอื้ออาทร" ต่อผู้รับเหมาและผู้ร่วมทุนโครงการมากกว่า แทนที่จะสร้างบ้านตามความต้องการจริง กลับสร้างตามความต้องการลวง หรือสร้างเกินกว่าความต้องการ ขายไม่ออก
            ผมเป็นคนพบชุมชนแออัดมากที่สุดนับพันแห่งในกรุงเทพมหานครในปี 2528 และต่อมาสำรวจชุมชนแออัดในจังหวัดภูมิภาค พบว่า ชุมชนแออัดทั่วประเทศมีไม่มากนัก รวมประชากรเพียงไม่เกิน 1% ของทั้งประเทศ ระหว่างที่ผมสำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่อยากให้มีชุมชนแออัดในท้องที่ก็จะไม่นำเสนอข้อมูล แต่บางแห่งอยากได้งบประมาณมาพัฒนาท้องถิ่น ก็นำชุมชนเขตเมืองของตนมารวมเข้าไว้ด้วย

            2. คนจนจำเป็นต้องมีบ้าน?
            หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะยัดเยียดให้ชาวบ้านมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ความจริงชาวบ้านจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดยังไม่มีความพร้อม ในชุมชนแออัดเองก็ยังมีประชากรราวหนึ่งในสามเป็นผู้เช่าบ้าน ในเมื่อชาวบ้านยังไม่มีความพร้อมที่จะมีบ้าน หากเรายัดเยียดบ้านให้ เขาก็อาจไม่เห็นค่า และขายสิทธิเพื่อย้ายออกไปอยู่ที่อื่น
            ยิ่งกว่านั้น ในการย้ายชาวบ้านจากชุมชนแออัด นักวางแผนพยายามจะให้ชาวบ้านไปด้วยกันทั้งที่แต่ละคนอาจมีความต้องการต่างกัน บ้างอาจอยากได้ค่าชดเชยไปหาที่อยู่ใหม่ บ้างก็อาจต้องการไปซื้อหรือเช่าบ้านที่อื่น การนำพาชาวบ้านไปร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่พึงทบทวน

            3. คนจนเข้าไม่ถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน?
            มักมีการกล่าวอ้างว่า ชาวบ้านเข้าไม่ถึงระเบียบสินเชื่อของสถาบันการเงินทั่วไป โดยนัยนี้ระเบียบการอำนวยสินเชื่อควรได้รับการผ่อนปรนเพื่อผู้มีรายได้น้อย ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นจากสมมติฐานที่ว่าผู้มีรายได้น้อยไม่โกง เพียงแต่ไม่มีหลักประกันเพียงพอ อย่างไรก็ตามการยกเว้นเรื่องมาตรฐานหลักประกันสำหรับผู้มีรายได้น้อย อาจนำไปสู่ช่องโหว่ของการอำนวยสินเชื่อ ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงินได้
            ถ้าผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ก็แสดงว่ายังไม่ควรขอ หาไม่อาจเกิดปัญหาแก่ทุกฝ่ายได้ ถ้าทุกคนในสังคมอ้างเช่นนี้ วินัยทางการเงินก็คงไม่ต้องมี

            4. คน (อยาก) จนไม่เบี้ยวหนี้หรอก?
            ความจริงที่ไม่ค่อยเปิดเผยก็คือ ในโครงการแบ่งปันที่ดิน (Land Sharing) หลายแห่งที่คุยว่าประสบความสำเร็จจนทั่วโลกมาดูงานนั้น ชาวบ้านที่ได้รับสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินในชุมชนแออัดเหล่านี้กลับไม่ยอมผ่อนชำระจนในที่สุดทางราชการต้องตัดบัญชีเป็นหนี้สูญ เร็ว ๆ นี้ชาวบ้านในชุมชนแห่งหนึ่งมีสัญญาการผ่อนชำระค่าที่ดินเพียงตารางวาละ 1 บาท ชาวบ้านส่วนมากก็ยัง "ชักดาบ" จนกลายเป็นหนี้เสียไปแทบทั้งชุมชน คนที่ยอมผ่อนตามสัญญาคงกลายเป็นคนโง่ไปในที่สุด
            ชาวบ้านเบี้ยวหนี้เพราะเห็นว่าทางราชการคงยอมผ่อนปรน ก็เลยขาดวินัยทางการเงิน แต่ถ้ากู้เงินนอกระบบ ชาวบ้านคงไม่กล้าแม้แต่จะคิด เรื่องการเบี้ยวหนี้เช่นนี้แทบไม่เคยได้เปิดเผยแก่สังคมได้รับรู้

            5. การออมทรัพย์คือทางออก?
            ที่ผ่านมา มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านรู้จักเก็บออม เพื่อนำเงินมาซื้อที่อยู่อาศัย ภาพเช่นนี้อาจดูน่ารัก แต่ในหลาย ๆ กรณีไม่ประสบความสำเร็จ (แต่ปิดเงียบ) กลายเป็น "ปาหี่" เงินที่ออมได้เพียงเล็กน้อย กู้ไปใช้สอยยังแทบไม่พอ แต่ที่ชาวบ้านสามารถสร้างบ้านได้ ก็เพราะหน่วยงานบางแห่ง ให้กู้เงินโดยไม่มีหลักประกันแก่ชาวบ้านโดยแทบไม่เกี่ยวกับการออมทรัพย์
            ภาพแห่งความสำเร็จอันงดงามของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่เป็นตัวอย่างบางแห่ง คงไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการออมทรัพย์เพื่อนำเงินมาสร้างชุมชนแออัดใหม่

            6. "ร่วมกันสร้าง" คือทางออก?
            เคยมีความคิดกึ่งโรแมนติกให้ชาวบ้านค่อย ๆ สร้างบ้านของตนเอง ใช้ดิน ใช้วัสดุที่พอมีภายในพื้นที่สร้างกันขึ้นมา คงคล้ายกับชาวอาฟริกันสร้างกระท่อมหรือบ้านดินเป็นของตนเอง แนวคิดนี้เผยแพร่มา 25 ปีแล้ว
            ความคิดอย่างนี้ไม่มีโอกาสสำเร็จ เพราะมูลค่าของแรงงานคนไทยมีค่าสูงเกินกว่าจะมาสร้างบ้านหรือ "ถ้า" ของตนเอง การซื้อบ้านในตลาดเปิดที่มีการจัดการดีกลับถูกกว่าการสร้างเอง แต่ถ้าเป็นในอาฟริกาที่ไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดี ผู้คนก็อาจต้องสร้างบ้านเอง

            7. ชาวบ้านไม่ได้ "ชุมชน" ที่ดี
            การปรับปรุงชุมชนแออัดเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ชุมชนแออัดยังไงก็ดูไม่ดี คนที่มีฐานะดีขึ้นก็คงอยากย้ายออกจากชุมชนเพื่อให้ลูกหลานมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น การมีโครงการปรับปรุงชุมชนแบบ "บ้านมั่นคง" แม้ชาวบ้านจะมีบ้านเป็นของตนเอง แต่เมื่อได้แล้วชาวบ้านก็หมดไฟที่จะดำเนินการพัฒนาต่อ ต่างคนต่างอยู่เป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ
            ปรากฏการณ์นี้อาจสร้างความผิดหวังกับนักสร้างชุมชน แต่ถือเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านอาจร่วมกันทำอะไรบางอย่างด้วยอารมณ์ร่วมแล้วก็จบกัน แต่ความจริงก็คือ การปรับปรุงฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน แต่ละครัวเรือน ไม่ใช่กิจกรรมรวมหมู่

            8. กระจายรายได้ให้ชาวบ้าน?
            ท่านทราบหรือไม่ งบประมาณเพื่อการปรับปรุงชุมชนแออัดเป็นเงินถึง 68,000 บาทต่อครอบครัว งบพัฒนาสาธารณูปโภคเป็นเงิน 25,000 - 35,000 บาทต่อครัวเรือน และงบประมาณเงินกู้สร้างบ้านใหม่แก่ชาวชุมชนแออัด เป็นเงินถึง 150,000 - 200,000 บาท นี่นับเป็นงบประมาณมหาศาลที่แม้แต่ผู้มีรายได้น้อยนอกชุมชนแออัด ก็ยังไม่มีโอกาสเข้าถึง และการนี้ผู้มีรายได้ปานกลางนอกชุมชนจึงกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสไปโดยปริยาย
            ก็เพราะการโฆษณาว่า "ชุมชนแออัดโตเร็วกว่าการแก้ไข" หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการนี้ จึงได้งบประมาณไปดำเนินการมหาศาลถึงเพียงนี้ ทำไปทำมาผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นใครกัน หรือนี่ถือเป็นการกระจายรายได้ให้ประชาชนในรูปแบบใหม่ที่เอาเงินไปแบ่ง ๆ กันใช้

            ประเทศไทยเจริญขึ้นมากในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น ในปี 2500 ประมาณ 43% ของครัวเรือนในกรุงเทพมหานครอยู่ในบ้านที่มีก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 5% เท่านั้น ในขณะที่ในช่วง 200 ปีแรกของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครมีบ้านเพียง 1 ล้านหน่วย แต่ตลอดช่วงปี             2525-2550       เรามีบ้านเกิดใหม่อีกเกือบ 3 ล้านหน่วย แทบทั้งหมดคือบ้านจัดสรร ไม่ใช่ชุมชนแออัด

            เราควรจะเร่งสร้างบ้านที่มีคุณภาพแทนชุมชนแออัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านและสังคมโดยรวม อย่าทำให้ให้การช่วยเหลือชาวบ้านกลายเป็นการลูบหน้าปะจมูก ที่คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงกลับเป็นคนหรือหน่วยงานที่ได้งบประมาณมหาศาลมาช่วยเหลือ ไม่ใช่ชาวบ้าน

หมายเหตุ:
[1] ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ที่ทำวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับชุมชนแออัด โดยเป็นคนแรกที่ค้นพบชุมชนแออัดถึง 1,020 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสำรวจชุมชนแออัดในภูมิภาคทั่วประเทศ เคยได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติหลายหน่วยงานให้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและชุมชนแออัด เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็น ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org
[2] มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/


ที่มา:  http://prachatai.com/journal/2007/12/15166

กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่น

กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่นดร.อภิชาติ ดำดี         ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค โดยมีรูปแบบขององค์กรท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป อาทิ องค์กรท้องถิ่นที่มีความเก่าแก่ยาวนานมากที่สุดอย่างเทศบาล ถัดมาคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรท้องถิ่นที่เกิดขึ้นหลังสุดอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งการปกครองพิเศษอีก 2 รูปแบบคือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
          ความสำเร็จในการบริหารการพัฒนาท้องถิ่นจึงฝากไว้กับผู้นำองค์กรท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ กระบวนทัศน์ (paradigm) หรือแนวความคิดอย่างเป็นระบบในการพัฒนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้นำองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ
          จากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการผสมผสานกับประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับองค์กรท้องถิ่นในฐานะวิทยากรและสื่อสารมวลชนที่ทำงานด้านท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน พอจะสังเคราะห์ออกมาเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่นดังต่อไปนี้
          1. การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงเป็นการพัฒนาที่ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดีงาม เข้มแข็งพอที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ
          2. ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) การพัฒนาที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องติดยึดอยู่กับตำราหรือทฤษฎีการพัฒนาแบบตะวันตกที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นจึงเป็นแนวทางที่นักบริหารการพัฒนาพึงให้ความสำคัญ เป็นความจำเป็นที่ผู้นำองค์กรท้องถิ่นต้องรู้เท่าทัน มองเห็นโลกทั้งใบ แต่ต้องเข้าใจท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อออกแบบการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพ “ภูมิสังคม” ของท้องถิ่นนั้นๆ “Think Globally, but Act Locally” (Peter Drucker)
          3. ความเสมอภาค (Equity) เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน กระบวนทัศน์ในการพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ประชาชนทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสจากการพัฒนา นโยบายสาธารณะและโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ขององค์กรท้องถิ่นจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่ใช่กำหนดมาจากพรรคพวก, หัวคะแนนหรือฐานคะแนนเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็ต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการกระจายรายได้ควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตด้วย
          4. การกระจายอำนาจ (Empowerment) สังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการกระจายอำนาจทั้งในระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ด้วยความเป็นโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน การกระจายอำนาจจึงเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการพัฒนาทุกระดับ ภายใต้หลักการที่ว่าไม่มีผู้ปกครองใดที่เข้าใจ ใกล้ชิด และเข้าถึงประชาชนและการแก้ปัญหาได้ดีเท่ากับผู้ปกครองที่มาจากประชาชนด้วยกันเอง การบริหารการพัฒนายุคใหม่จึงต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) เพื่อให้การพัฒนาและการแก้ปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และวิธีการพัฒนานั้นต้องเป็นแบบจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) ไม่ใช่แบบบนลงล่าง (Top Down Management) เหมือนอย่างในอดีต
          5. ความคุ้มค่า (Pruductivity) หมายถึงการพัฒนาต่างๆนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบทรัพยากรที่ใช้ไปกับผลที่ได้รับกลับมา ในภาคเอกชนนั้นมักจะเน้นการบริหารที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) คือทำถูกวิธี (Do Thing Right) เพื่อให้ต้นทุนต่ำสุด ได้กำไรสูงสุด แต่ในภาครัฐหรือองค์กรท้องถิ่นที่มีประโยชน์สาธารณะ (Public Benefit) เป็นเป้าหมายนั้นควรเน้นการบริหารที่มีประสิทธิผล (Effective) คือทำถูกเรื่อง (Do right Thing) โดยมุ่งที่ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก โครงการพัฒนาบางอย่างอาจไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีความคุ้มค่าในเชิงสังคม, วัฒนธรรม, การศึกษา หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนก็อาจดำเนินการได้
          กระบวนทัศน์ในการพัฒนาเหล่านี้ ต้องอยู่ภายใต้ร่มธงใหญ่คือ หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี อัน ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม (Participation) / ความโปร่งใส (Transparency) / การตรวจสอบได้ (Accoutability) / นิติธรรม (Rules of Law)
          นอกจากนี้แล้วในหลักพระพุทธศาสนาก็ยังมีหลักธรรมหลายเรื่องที่เหมาะสม อย่างยิ่งที่สังคมไทยควรจะน้อมนำมาใช้เป็นภูมิปัญญาในการประพฤติปฏิบัติเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในส่วนที่เป็นผู้นำชุมชนและสมาชิกของชุมชน อาทิ
          คุณธรรมสำหรับผู้นำชุมชน ประกอบด้วยราชสังคหะ คือ ทำนุบำรุงทวยราษฎร์ให้ประชาชาติดำรงอยู่ในเอกภาพและสามัคคีด้วยหลักธรรมที่เรียกว่า “ราชสังคหวัตถุ” (หลักการสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา) 4 ประการ คือ
          1. สัสสเมธะ ฉลาดบำรุงธัญญาหาร คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุงพืช พันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์
          2. ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงข้าราชการ คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุง ข้าราชการ ด้วยการส่งเสริมคนดีมีความสามารถ และจัดสวัสดิการให้ดี เป็นต้น
          3. สัมมาปาสะ ผูกประสานปวงประชา คือ ผดุงผสานประชาชนไว้ด้วยนโยบาย ส่งเสริมอาชีพ เช่น จัดทุนให้คนยากจนยืมไปสร้างตนในพาณิชยกรรม หรือ ดำเนินกิจการต่าง ๆ ไม่ให้ฐานะเหลื่อมล้ำห่างเหินจนแตกแยกกัน
          4. วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ คือ รู้จักพูด รู้จักชี้แจงแนะนำ รู้จักทักทาย ไถ่ถาม ทุกข์สุข ราษฎรทุกชั้น แม้ปราศรัยก็ไพเราะน่าฟัง ทั้งประกอบด้วยเหตุผลเป็น หลักฐาน มีประโยชน์ เป็นทางแห่งการสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาเสริมความ สามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจดี ความเชื่อถือ และความนิยมนับถือ
          คุณธรรมสำหรับสมาชิกของชุมชน คือมีส่วนในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบ ที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียวที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7 ประการ คือ
          1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พบปะปรึกษาหารือกิจการงาน (ที่พึงรับผิดชอบ ตามระดับของตน) โดยสม่ำเสมอ
          2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจ ทั้งหลายที่พึงทำร่วมกัน
          3. ไม่ถืออำเภอใจใคร่ต่อความสะดวก บัญญัติวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อัน มิได้ตกลงบัญญัติวางไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติกันไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ
          4. ท่านผู้ใดเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์ยาวนาน ให้เกียรติเคารพนับถือท่าน เหล่านั้นมองเห็นความสำคัญแห่งถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง
          5. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น ให้เกียรติและคุ้มครองกุลสตรี มิให้มีการ ข่มเหงรังแก 
          6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่อง เตือนความทรงจำ ยินดีในการที่จะอยู่อย่างสงบ เร้าให้ทำดี และเป็นที่รวมใจ ของหมู่ชน ไม่ละเลยพิธีเคารพบูชา อันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานเหล่านั้นตามประเพณี
          7. จัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครองอันชอบธรรมแก่บรรพชิต ผู้ทรงศีล ทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก ความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และปรารถนาดีต่อมนุษยชาติ และการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความยินดีให้มี ความสุข
          อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับการมีส่วนในการปกครอง ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม


ที่มา :  http://www.oknation.net/blog/damdee/2009/06/05/entry-1

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มาตรการควบคุมสัตว์เลี้ยงในเมืองไทย

         ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่เพียงลำพังคนเดียวได้ จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่ก็หาสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ หลากชนิด ตัวเล็กใหญ่ หนึ่งหรือสองตัวมาเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา หรือเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นงานอดิเรก หรือใช้ประโยชน์จากสัตว์เพื่อไว้ขายหรือการค้า ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดแต่ละประเภทก็ย่อมมีข้อแตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของการเลี้ยงดู สถานที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ทั้งแบบมีข้อจำกัดและแบบมีอิสระได้ เรื่องของอาหารสัตว์ การเอาใจใส่ดูแลจากผู้เลี้ยง การให้วัคซีน ฯลฯ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากมนุษย์เราเท่าไหร่นัก
        สัตว์เลี้ยงทุกชนิดที่เรานำมาเลี้ยงทั้งแบบกักขังหรือแบบปล่อย อาจจะนำปัญหามาสู่ผู้เลี้ยง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรค เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่คน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แอนแทรกซ์ ไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น รวมทั้งอันตรายที่เกิดจากถูกสัตว์ทำร้าย เช่น สุนัขรุมกัดเด็ก ซึ่งเป็นข่าวให้พบเห็นประจำ นอกจากนั้นอาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ในเรื่องของกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ เสียงรบกวนจากการร้องของสัตว์ รวมถึงน้ำเสียจากการล้างคอกสัตว์ หรือตัวสัตว์เป็นต้น
        พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ในหมวด ๖ กำหนดให้มีการควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ โดยให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นในการออกข้อกำหนดท้องถิ่น เพื่อกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ทั้งในเรื่องประเภทของสัตว์ที่ห้ามเลี้ยง กรรมวิธีการเลี้ยง การป้องกันเหตุรำคาญ และการปล่อยสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะด้วย ข้อกำหนดของท้องถิ่นที่กำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์สามารถแบ่งได้ ๓ ลักษณะดังนี้
        ๑. เขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดโดยเด็ดขาด คือ เขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีความเจริญ เป็นชุมชนหนาแน่น เป็นสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะให้มีการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ สุกร เป็นต้น และเมื่อได้มีการกำหนดเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ชนิดใดในเขตพื้นที่ใดก็ตาม จะมีผลให้ประชาชนแม้มีที่เป็นของตนเองก็ไม่อาจเลี้ยงสัตว์ที่ถูกกำหนดในพื้นที่นั้นได้ เช่น กำหนดห้ามเลี้ยงหรือปล่อย โค กระบือ ม้า แพะ ในบริเวณรอบหนอง บึง ที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน เพราะจะทำให้แหล่งน้ำสกปรก
        ๒. เขตให้เลี้ยงสัตว์บางชนิดไม่เกินจำนวนที่กำหนด ต้องกำหนดชนิดและประเภทของสัตว์ที่ห้ามให้ชัดเจนด้วย เช่น ในเขตชุมชน อาคารพาณิชย์ที่มีผู้อาศัยอย่างหนาแน่นไม่สมควรให้มีสุนัขจำนวนเกินกว่า ๒ ตัวต่ออาคาร ๑ คูหา เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ก่อเหตุรำคาญแก่ผู้อยู่ข้างเคียง หรือการกำหนดให้เขตพื้นที่ของท้องถิ่นนั้นเป็นเขตห้ามเลี้ยงสุกรเกินกว่า ๕๐ ตัว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของ ปัญหาว่าต้องมีจำนวนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ
        ๓. เขตให้เลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์บางชนิดได้โดยมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการนำมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการทางวิชาการมากำหนด เพื่อมิให้เกิดปัญหาด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สุขลักษณะหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ เช่น กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด อาคารสถานที่ คอกสัตว์ ตัวสัตว์ การกำจัดมูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลต่างๆ การบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการควบคุมโรคติดต่อ โดยการฉีดวัคซีน แล้วแต่กรณี หรือการนำสุนัขออกไปเลี้ยงนอกบ้านต้องล่ามโซ่ไปด้วย หรือกำหนดให้ผู้เลี้ยงสุกรตั้งแต่ ๒๐ ตัวขึ้นไป ต้องอยู่ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เมตร หรือมีแนวพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร จากโรงเลี้ยง และต้องจัดทำระบบกำจัดมูลสุกรอย่างน้อย ๑ ถัง
        เมื่อราชการส่วนท้องถิ่นออกเป็นข้อกำหนดของท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีผลบังคับให้ประชาชนในเขตพื้นที่นั้นๆ ต้องปฏิบัติตาม หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท และในการกำหนดเขตควบคุมดังกล่าวจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน และต้องขึ้นอยู่กับปัญหา และต้องมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงตามสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ หากไม่มีเหตุผล ประชาชนย่อมมีสิทธิฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นได้

ที่มา : http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

beethoven vs อ.สมบัติ