วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

กระบวนการพัฒนาชุมชน

กระบวนการพัฒนาชุมชน


  กระบวนการพัฒนาชุมชน อาจแบ่งได้เป็น 8 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาชุมชน (Community Study)
             ความหมายของการศึกษาชุมชน การศึกษาชุมชน หมายถึง การสำรวจและศึกษาวิเคราะห์หาความจริงในสภาวะของ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความต้องการ และปัญหาในชุมชนนั้น ๆ เพื่อที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนต่อไป
1. ความมุ่งหมายของการศึกษาชุมชน การศึกษาชุมชนมีความมุ่งหมาย ดังต่อไปนี้
              1.1 เพื่อทราบความต้องการต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อจะได้หาทางตอบสนองความต้องการต่อไป
              1.2 เพื่อทราบปัญหาต่าง ๆ และได้ร่วมกันคิดวางโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป
              1.3 เพื่อทราบถึงแหล่งวิชาในชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ วิทยากรและสถาบันต่าง ๆ ของชุมชนเพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป
              1.4 เพื่อทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ กับชุมชน อันจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีขึ้น
              1.5 เพื่อศึกษาสภาวะทางเศรษฐสังคม (Socio - Economic) สวัสดิภาพของสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ การบริโภคและอุปโภค ซึ่งจะได้หาทางบริการจัดหาอุปกรณ์และวิธีปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป
              1.6 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อ เจตคติ ขนมธรรมเนียมประเพณี การนันทนาการของประชาชนในชุมชน ซึ่งจะได้หาทางสนับสนุน ปรับปรุง ส่งเสริมให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
             
            ประเภทของการศึกษาชุมชน มี 2 ประเภทคือ
1. การศึกษาเฉพาะด้าน (Topical Community Study) เป็นการศึกษาชุมชนในด้านใดด้านหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น เช่น สุขภาพอนามัย การศึกษา การเกษตร เป็นต้น
2. การศึกษาทั่ว ๆ ไป เป็นการศึกษาชุมชนอย่างกว้างขวางหรือหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน
3. หลักในการศึกษาชุมชน ควรยึดถือหลักบางประการคือ
3.1 ต้องศึกษาต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา
3.2 ใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีและทดลองทำหลาย ๆ ครั้ง
3.3 ใช้วิธีวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มจากการตั้งจุดมุ่งหมาย การวางโครงการการลงมือกระทำและการประเมินผลตามลำดับ
3.4 ใช้หลักฐาน วัสดุ อุปกรณ์อย่างเพียงพอ และใช้อุเบกขาในการพิจารณา
3.5 สร้างความรู้สึกและความสัมพันธ์อันดีต่อผู้ที่จะศึกษา เพราะมีโอกาสได้ข้อมูลที่แท้จริงได้มากขึ้น
4. วิธีการศึกษาชุมชน สามารถกระทำได้หลายวิธีการ ดังนี้
4.1 การสังเกต
4.2 การแจงนับจำนวนแบบสมบูรณ์
4.3 การสุ่มตัวอย่าง
4.4 การสัมภาษณ์
4.5 การใช้แบบสอบถาม
4.6 การใช้สถิติต่าง ๆ
4.7 การศึกษารายกรณี
4.8 การสำรวจ
4.9 การศึกษาจากผู้รู้และแหล่งวิชาต่าง ๆ

ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ปัญหาชุมชน
การพัฒนาชุมชนโดยแท้จริงแล้วก็คือ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนนั่นเอง ดังนั้นการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน จึงเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่ต้องกระทำ ซึ่งโดยทั่วไป ปัญหาชุมชนมี 4 ลักษณะคือ
1. ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพและรายได้
2. ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
3. ปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ
4. ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรม
ปัญหาเหล่านี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. ปัญหาที่ชุมชนสามารถแก้ไขได้เองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกชุมชน
2. ปัญหาที่ชุมชนไม่สามารถแก้ไขเองได้ ต้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกชุมชน
ประโยชน์ของการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน มีประโยชน์หลายประการ คือ
1. เป็นแนวทางในการพิจารณาแก้ไขปัญหาแต่ละปัญหา ตามขีดความสามารถของชุมชน
2. ทำให้ทราบว่าปัญหาใดแก้ไขได้ง่าย ปัญหาใดแก้ไขได้ยากสามารถเลือกดำเนินการได้ก่อนหลังตามลำดับ
3. เป็นการเตรียมการสำหรับการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า ในขั้นปฏิบัติการสามารถดำเนินไปได้ด้วยด้วย
4. เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง เพราะการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนนั้นเป็นการเชื่อมโยงปัญหาทั้งหมดเอาไว้ในทุกแง่มุม

ขั้นตอนที่ 3 การจัดลำดับความต้องการและปัญหาชุมชน
เมื่อทำการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนเรียบร้อยแล้วก็นำปัญหาเหล่านั้นมาจัดลำดับความสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางในการลงมือแก้ไขต่อไป
1. การจัดลำดับความต้องการและปัญหาชุมชน มีหลักในการดำเนินการ ดังนี้
1.1 ปัญหาที่ชุมชนส่วนรวม ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ติดตามมา ควรเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก
1.2 ปัญหาที่เมื่อแก้ไขแล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ควรเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก
1.3 ปัญหาที่อยู่ในขีดความสามารถของประชาชนที่จะแก้ไขได้ควรเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก
2. การจัดลำดับความต้องการและปัญหาชุมชนมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้
2.1 ทำให้ทราบว่าปัญหาใดชุมชนเดือดร้อนมากที่สุด และต้องรีบแก้ไขก่อนปัญหาอื่น ๆ
2.2 ในชุมชนจะประสบปัญหามากมายหลายปัญหาจนไม่อาจทำการแก้ไขไปพร้อม ๆ กันได้ การจัดลำดับก่อนหลังจะเป็นแนวทางในการแก้ไขได้เป็นอย่างดี
2.3 ทำให้ทราบถึงความเกี่ยวพันกันของแต่ละปัญหา ถ้านำไปแก้ไขพร้อม ๆ กันได้ก็จะไม่เสียเวลา
2.4. เป็นแนวทางในการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดของชุมชนได้เป็นอย่างดี

ขั้นตอนที่ 4 การวางแผนแก้ปัญหาในลักษณะของโครงการ
              การวางแผนหรือการวางโครงการในงานพัฒนาชุมชน หมายถึงกระบวนการเกี่ยวกับการกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ บริหาร และกำหนดวิถีทางสำหรับปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ มีการลำดับความคิดในการดำเนินงานที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันว่าควรจะทำอะไร เมื่อไร ใครเป็นผู้ทำ ทำที่ไหน ทำไมจึงเลือกวิธีดำเนินงานเช่นนั้น ตลอดจนการฝึกอบรมให้ประชาชนได้เข้าใจวิธีการจัดสรร มอบหมายงานให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทราบบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ทั้งยังเป็นการคาดการณ์ว่าในอนาคตควรจะดำเนินงานอย่างไรได้อีกด้วย

1. หลักในการวางแผนโครงการในงานพัฒนาชุมชน มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
              1.1 การวางเป็นผลจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ ความต้องการและปัญหาของประชาชนในชุมชนนั้น ๆ
              1.2 ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนในชุมชน โดยการดำเนินงาน ต้องเป็นไปตามลำดับความสำคัญของปัญหาในชุมชนนั้น ๆ อีกด้วย
              1.3 การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในชุมชน ต้องพิจารณาถึงจำนวนประชาชนผู้เกี่ยวข้อง ความสนใจและต้องการของบุคคลในแต่ละครอบครัว
              1.4 ต้องมีความสอดคล้องกับค่านิยม ความเชื่อ ข้อห้ามของประชาชนในชุมชน
              1.5. ต้องเริ่มจากสิ่งที่ประชาชนมีอยู่และสิ่งที่ประชาชนรู้อยู่แล้ว
              1.6 วัตถุประสงค์ต้องสอดคล้องกับความสนใจ ความพึงพอใจของประชาชนในชุมชน
              1.7 ต้องมีแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบแบบแผน
              1.8 ต้องเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี
              1.9 ต้องอาศัยความร่วมมือประสานงานในการปฏิบัติร่วมกับองค์กรต่าง ๆ และผู้นำในชุมชน
              1.10 ต้องบ่งชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการประเมินผลได้เป็นอย่างดี

2. ขั้นตอนของการวางแผนโครงการในงานพัฒนาชุมชน
กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดขั้นตอนของการวางแผนโครงการเอาไว้ 5 ขั้นตอนดังนี้
              2.1 การแสวงหาข้อเท็จจริง
              2.2 การเผยแพร่ความคิดต่อบุคคลอื่น ๆ ในชุมชนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุน
              2.3 การจัดทำแผนและโครงการตามความเหมาะสม โดยทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
              2.4 การลงมือปฏิบัติงานตามแผนและโครงการที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบ
              2.5 การติดตามและประเมินผล
3. ลักษณะของแผนงานและโครงการที่ดี ดังต่อไปนี้
              3.1 เป็นแผนและโครงการที่เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ตามสถานการณ์ที่มีอยู่
              3.2 ได้คัดเลือกปัญหาความต้องการของประชาชนในชุมชน
              3.3 มีวัตถุประสงค์ และวิธีดำเนินงานอันเป็นที่พึงพอใจของประชาชนในชุมชน
              3.4 มีลักษณะถาวรแต่ยืดหยุ่นได้
              3.5 ต้องมีดุลแห่งความต้องการ
              3.6 มีแผนปฏิบัติงานในรายละเอียด
              3.7 มีลักษณะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง
              3.8 มีลักษณะเป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชนในชุมชน
              3.9 มีลักษณะกระบวนการประสานงาน
              3.10 ต้องกำหนดการประเมินผลการปฏิบัติไว้

ขั้นตอนที่ 5 การพิจารณาวิธีดำเนินงาน

              ในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนนั้นมีวิธีดำเนินงานอยู่ในรูปของแผนและโครงการนักพัฒนาชุมชน จะต้องพิจารณาแผนและโครงการใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1. การวิเคราะห์องค์ประกอบของโครงการ
โครงการที่จะใช้ดำเนินงานพัฒนาชุมชน ควรมีองค์ประกอบดังนี้
1.1 วัตถุประสงค์
1.2 วิธีการหรือกิจกรรมที่ใช้
1.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ
1.4 เป้าหมาย
1.5 ระยะเวลาในการดำเนินงาน
1.6 ปัจจัยที่นำมาใช้ดำเนินงาน
2. การวิเคราะห์โครงการ
ในการวิเคราะห์โครงการพัฒนาชุมชน ควรทำการวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้
2.1 ความสอดคล้องสมบูรณ์ทางโครงการ
2.2 ความเป็นไปได้ของโครงการ
2.3 ความเหมาะสมและประโยชน์ของโครงการ
3. การวิเคราะห์แผนปฏิบัติงานประกอบโครงการ
เมื่อนักพัฒนาชุมชนตกลงใจจะดำเนินงานตามโครงการใด ๆ แล้ว ในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องวิเคราะห์พิจารณารายละเอียดของแผนปฏิบัติงาน ประกอบโครงการอีกด้วย เพราะแผนปฏิบัติงานจะแสดงถึงข้อมูลที่จำเป็นต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาได้เป็นอย่างดี ในแผนปฏิบัติงานจะต้องแสดงข้อมูลหรือสาระสำคัญต่อไปนี้
3.1 ชื่อโครงการ
3.2 หลักการและเหตุผลของโครงการ
3.3 วัตถุประสงค์
3.4 เป้าหมาย หรือผลที่คาดว่าจะได้รับ
3.5 ผู้รับผิดชอบโครงการ
3.6 ทรัพยากรที่ใช้
3.7 วิธีดำเนินการ
3.8 หน่วยงานรับช่วงดูแลในอนาคต
3.9 วิธีประเมินผล
ในขั้นตอนการพิจารณาวิธีดำเนินงานพัฒนาชุมชนนี้ เมื่อพิจารณาวิเคราะห์และตรวจสอบแล้ว พบว่ายังมีข้อบกพร่องปรากฏอยู่ นักพัฒนาชุมชนจะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสมเสียก่อนแล้ว จึงดำเนินการตามโครงการต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 การดำเนินงานพัฒนาชุมชน

              ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ลงมือกระทำการพัฒนาชุมชนในภาคปฏิบัติการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักพัฒนาชุมชนจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบให้มากที่สุด ส่วนนักพัฒนาชุมชนต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุน และมีภารกิจที่สำคัญอีก 2 ประการคือ
1. การบริหารโครงการให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
1.1 จัดให้มีการอำนวยการสั่งการ และแบ่งงานให้เป็นสัดส่วน
1.2 แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจต่อกันอย่างชัดเจน
1.3 กำหนดวิธีการประสานงาน
1.4 กำหนดวิธีการตรวจสอบและควบคุมงาน
1.5 ตรวจสอบและประเมินผลงานเป็นระยะ ๆ เพื่อการปรับปรุงส่วนที่ไม่เป็นไปตามแผนและโครงการ
2. การควบคุมและติดตามผลการดำเนินงาน
ในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนนั้น นอกจากการจัดให้มีการบริหารโครงการแล้ว ยังต้องมีการควบคุมและติดตามผลการดำเนินงานตามแผนโครงการอีกด้วย การดำเนินงานจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย  ความมุ่งหมายของการควบคุมและติดตามโครงการการควบคุมและติดตามโครงการมีความมุ่งหมายดังนี้
1. เพื่อตรวจสอบวิธีปฏิบัติงานว่าถูกต้องเหมาะสมเพียงไร
2. เพื่อบำรุงขวัญหรือการจูงใจผู้ปฏิบัติงาน
3. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
4. เพื่อปรับปรุงแก้ไขโครงการให้สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
5. เพื่อสรุปและรายงานผลการดำเนินงาน
ประเภทของการควบคุมและติดตามโครงการ
การควบคุมและติดตามโครงการ มีหลายประเภทคือ
1. การควบคุมและติดตามผลทางปริมาณ
2. การควบคุมและติดตามผลทางคุณภาพ
3. การควบคุมและติดตามผลทางด้านเวลา
4. การควบคุมและติดตามผลทางงบประมาณ
5. การควบคุมและติดตามผลทางวิชาการ
6. การควบคุมและติดตามผลทางความคุ้มค่าของโครงการ
นักพัฒนาชุมชนหรือผู้มีหน้าที่ในการควบคุมและติดตามโครงการ จึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการดำเนินงานพัฒนาชุมชน การบริหารงาน การควบคุมและติดตามโครงการเป็นอย่างดี จึงจะสามารถดำเนินงานในขั้นตอนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ขั้นตอนที่ 7 การประเมินผลงาน
1. ความหมายของการประเมินผลงาน
การประเมินผลงานเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ให้สามารถดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่วางไว้ หรือเป็นวิธีการสำหรับตัดสินว่ากิจการดำเนินไปด้วยความเจริญก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด และจะต้องดำเนินการต่อไปอีกมากน้อยเท่าไร จึงจะประสบผลสำเร็จ ดังนั้นการประเมินผลจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาที่ส่องให้ผู้ปฏิบัติงานได้มองเห็นถึงจุดเด่นและจุดด้อยของการดำเนินงานในทุก ๆ ขั้นตอนของโครงการ และยังสามารถใช้ในการคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย
2. ประโยชน์ของการประเมินผลงาน
การประเมินผลงานมีประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนหลายประการดังนี้
1. แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโครงการ
2. ทำให้ทราบถึงทิศทางของการดำเนินงานว่าเป็นไปตามความต้องการหรือไม่
3. เป็นเครื่องชี้ประสิทธิภาพของโครงการ
4. บอกให้ทราบถึงจุดเด่นและจุดด้อยของโครงการ
5. ช่วยในการเสริมสร้างทักษะในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
6. ช่วยในการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของกิจกรรมต่าง ๆ
7. สร้างความมั่นใจในการดำเนินงาน
8. เป็นแนวทางที่จะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากแหล่งต่าง ๆ
9. เป็นพื้นฐานสำหรับการวางโครงการและปฏิบัติการในโอกาสต่อไป

ขั้นตอนที่ 8 บทบาทของนักพัฒนาในการพัฒนาชุมชน

              เนื่องจากเป้าหมายและกระบวนการพัฒนาชุมชนนั้นมีขอบเขตของการพัฒนาที่กว้างขวางมาก นักพัฒนาชุมชนจึงต้องมีบทบาทหรือภาระหน้าที่หลายประการ แต่ที่เป็นภาระหน้าที่พื้นฐานควรมีอย่างน้อย 5 ประการคือ
1. เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ชุมชน (Educator) โดยการแนะนำความรู้ ความคิดใหม่ ๆ สู่ชุมชนสนับสนุนและส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ โดยการพูดคุย การประชุม และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
2. เป็นผู้จัดรวมกลุ่ม (Organizer) เพื่อให้สมาชิกชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน และสร้างอำนาจต่อรอง
3. เป็นผู้ประสานงาน (Co – ordinator) ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งของรัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อระดมทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้เพราะนักพัฒนาชุมชนไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ทุกเรื่อง ต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น หรือหน่วยงานอื่น ๆ จึงกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า นักพัฒนาชุมชนทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานงานในทุกขั้นตอนของการพัฒนาชุมชน
4. เป็นผู้ร่วมปฏิบัติ (Catalystor) โดยต้องมีส่วนร่วมปฏิบัติงานกับประชาชนทั้งในการวางแผน การจัดรวมกลุ่ม และการปฏิบัติงานตามโครงการต่าง ๆ
5. เป็นผู้ส่งเสริมและเผยแพร่ (Extension Worker) คือต้องทำหน้าที่ในการฝึกอบรม การสาธิต และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนยอมรับการดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ
คุณสมบัติของนักพัฒนาชุมชน

              นักพัฒนาชุมชน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาชุมชน นักพัฒนาชุมชนที่ดี จึงควรมีลักษณะดังนี้
1. มีอุดมคติ มีแรงจูงใจที่ต้องการทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
2. ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในชุมชนได้ดี
3. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี4. มีความคิดริเริ่ม มีไหวพริบดี
5. มีบุคลิกภาพที่จะเป็นหัวหน้าหรือผู้นำ
6. มีความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาของชุมชน
7. มีความประพฤติดี ขยันขันแข็ง กระตือรือร้นมีระเบียบวินัยเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านยอมรับนับถือหรือเลื่อมใส
8. มีลักษณะเป็นคนที่พัฒนาแล้วมากกว่าประชาชนที่จะไปพัฒนา
9. มีความสามารถในการโน้มน้าวจิตใจคนให้เห็นคล้อยตาม
10. มีความรอบรู้รอบด้านเพราะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาของประชาชนเกือบทุกด้าน
11. มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนเป็นอย่างดี
12. ต้องล่วงรู้จิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุก ๆ ฝ่ายอย่างถ่องแท้
สิ่งที่พึงยึดถือและปฏิบัติของนักพัฒนาชุมชน

              นักพัฒนาชุมชนควรยึดถือสิ่งต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน ดังนี้
1. ละทิ้งนิสัยและความรู้สึกต่าง ๆ ที่คิดว่าตนเป็นผู้ปกครอง ผู้คุ้มครอง หรือผู้เหนือกว่าประชาชนด้วยประการทั้งปวง
2. ต้องเรียนรู้ขนบธรรมเนียมในหมู่บ้านที่ตนเข้าไปทำงาน
3. พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาทำกัน
4. เลือกดำเนินงานที่ได้ริเริ่มด้วยความระมัดระวังยิ่ง ในการที่จะเริ่มดำเนินงานใหม่นั้น ควรเลือกเอาท้องถิ่นที่กำลังก้าวหน้า และมีราษฎรที่ประกอบด้วยจิตใจดี มีลักษณะก้าวหน้า เศรษฐกิจมั่นคง นิสัยของชาวบ้านไม่จับจด ทั้งจะต้องมีความขัดแย้งในด้านความคิดเห็นทางการเมืองเพียงเล็กน้อย
5. เริ่มดำเนินงานกับชาวบ้านในระดับที่จะได้สำเร็จก่อน
6. เลือกดำเนินกิจกรรมที่ชาวบ้านสนใจอยู่แล้ว
7. อย่าหวังผลให้มากเกินไป เริ่มต้นด้วยโครงการง่าย ๆ และสามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจนในระยะเวลาอันสั้น
8. ทำให้ชาวบ้านศรัทธาว่าตนสามารถจะปรับปรุงสถานการณ์ของชาวบ้านได้
9. นำเอาความเป็นอยู่ นิสัยใจคอตามธรรมชาติของประชาชนนั้นเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
10. มีความพอใจที่จะเริ่มต้นด้วยงานเล็ก ๆ ก่อน

http://www3.cdd.go.th/plaiphraya/process.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น