วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่น

กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่นดร.อภิชาติ ดำดี         ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค โดยมีรูปแบบขององค์กรท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป อาทิ องค์กรท้องถิ่นที่มีความเก่าแก่ยาวนานมากที่สุดอย่างเทศบาล ถัดมาคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรท้องถิ่นที่เกิดขึ้นหลังสุดอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งการปกครองพิเศษอีก 2 รูปแบบคือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
          ความสำเร็จในการบริหารการพัฒนาท้องถิ่นจึงฝากไว้กับผู้นำองค์กรท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ กระบวนทัศน์ (paradigm) หรือแนวความคิดอย่างเป็นระบบในการพัฒนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้นำองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ
          จากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการผสมผสานกับประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับองค์กรท้องถิ่นในฐานะวิทยากรและสื่อสารมวลชนที่ทำงานด้านท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน พอจะสังเคราะห์ออกมาเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่นดังต่อไปนี้
          1. การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงเป็นการพัฒนาที่ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดีงาม เข้มแข็งพอที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ
          2. ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) การพัฒนาที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องติดยึดอยู่กับตำราหรือทฤษฎีการพัฒนาแบบตะวันตกที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นจึงเป็นแนวทางที่นักบริหารการพัฒนาพึงให้ความสำคัญ เป็นความจำเป็นที่ผู้นำองค์กรท้องถิ่นต้องรู้เท่าทัน มองเห็นโลกทั้งใบ แต่ต้องเข้าใจท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อออกแบบการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพ “ภูมิสังคม” ของท้องถิ่นนั้นๆ “Think Globally, but Act Locally” (Peter Drucker)
          3. ความเสมอภาค (Equity) เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน กระบวนทัศน์ในการพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ประชาชนทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสจากการพัฒนา นโยบายสาธารณะและโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ขององค์กรท้องถิ่นจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่ใช่กำหนดมาจากพรรคพวก, หัวคะแนนหรือฐานคะแนนเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็ต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการกระจายรายได้ควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตด้วย
          4. การกระจายอำนาจ (Empowerment) สังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการกระจายอำนาจทั้งในระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ด้วยความเป็นโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน การกระจายอำนาจจึงเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการพัฒนาทุกระดับ ภายใต้หลักการที่ว่าไม่มีผู้ปกครองใดที่เข้าใจ ใกล้ชิด และเข้าถึงประชาชนและการแก้ปัญหาได้ดีเท่ากับผู้ปกครองที่มาจากประชาชนด้วยกันเอง การบริหารการพัฒนายุคใหม่จึงต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) เพื่อให้การพัฒนาและการแก้ปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และวิธีการพัฒนานั้นต้องเป็นแบบจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) ไม่ใช่แบบบนลงล่าง (Top Down Management) เหมือนอย่างในอดีต
          5. ความคุ้มค่า (Pruductivity) หมายถึงการพัฒนาต่างๆนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบทรัพยากรที่ใช้ไปกับผลที่ได้รับกลับมา ในภาคเอกชนนั้นมักจะเน้นการบริหารที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) คือทำถูกวิธี (Do Thing Right) เพื่อให้ต้นทุนต่ำสุด ได้กำไรสูงสุด แต่ในภาครัฐหรือองค์กรท้องถิ่นที่มีประโยชน์สาธารณะ (Public Benefit) เป็นเป้าหมายนั้นควรเน้นการบริหารที่มีประสิทธิผล (Effective) คือทำถูกเรื่อง (Do right Thing) โดยมุ่งที่ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก โครงการพัฒนาบางอย่างอาจไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีความคุ้มค่าในเชิงสังคม, วัฒนธรรม, การศึกษา หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนก็อาจดำเนินการได้
          กระบวนทัศน์ในการพัฒนาเหล่านี้ ต้องอยู่ภายใต้ร่มธงใหญ่คือ หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี อัน ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม (Participation) / ความโปร่งใส (Transparency) / การตรวจสอบได้ (Accoutability) / นิติธรรม (Rules of Law)
          นอกจากนี้แล้วในหลักพระพุทธศาสนาก็ยังมีหลักธรรมหลายเรื่องที่เหมาะสม อย่างยิ่งที่สังคมไทยควรจะน้อมนำมาใช้เป็นภูมิปัญญาในการประพฤติปฏิบัติเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในส่วนที่เป็นผู้นำชุมชนและสมาชิกของชุมชน อาทิ
          คุณธรรมสำหรับผู้นำชุมชน ประกอบด้วยราชสังคหะ คือ ทำนุบำรุงทวยราษฎร์ให้ประชาชาติดำรงอยู่ในเอกภาพและสามัคคีด้วยหลักธรรมที่เรียกว่า “ราชสังคหวัตถุ” (หลักการสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา) 4 ประการ คือ
          1. สัสสเมธะ ฉลาดบำรุงธัญญาหาร คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุงพืช พันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์
          2. ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงข้าราชการ คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุง ข้าราชการ ด้วยการส่งเสริมคนดีมีความสามารถ และจัดสวัสดิการให้ดี เป็นต้น
          3. สัมมาปาสะ ผูกประสานปวงประชา คือ ผดุงผสานประชาชนไว้ด้วยนโยบาย ส่งเสริมอาชีพ เช่น จัดทุนให้คนยากจนยืมไปสร้างตนในพาณิชยกรรม หรือ ดำเนินกิจการต่าง ๆ ไม่ให้ฐานะเหลื่อมล้ำห่างเหินจนแตกแยกกัน
          4. วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ คือ รู้จักพูด รู้จักชี้แจงแนะนำ รู้จักทักทาย ไถ่ถาม ทุกข์สุข ราษฎรทุกชั้น แม้ปราศรัยก็ไพเราะน่าฟัง ทั้งประกอบด้วยเหตุผลเป็น หลักฐาน มีประโยชน์ เป็นทางแห่งการสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาเสริมความ สามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจดี ความเชื่อถือ และความนิยมนับถือ
          คุณธรรมสำหรับสมาชิกของชุมชน คือมีส่วนในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบ ที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียวที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7 ประการ คือ
          1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พบปะปรึกษาหารือกิจการงาน (ที่พึงรับผิดชอบ ตามระดับของตน) โดยสม่ำเสมอ
          2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจ ทั้งหลายที่พึงทำร่วมกัน
          3. ไม่ถืออำเภอใจใคร่ต่อความสะดวก บัญญัติวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อัน มิได้ตกลงบัญญัติวางไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติกันไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ
          4. ท่านผู้ใดเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์ยาวนาน ให้เกียรติเคารพนับถือท่าน เหล่านั้นมองเห็นความสำคัญแห่งถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง
          5. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น ให้เกียรติและคุ้มครองกุลสตรี มิให้มีการ ข่มเหงรังแก 
          6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่อง เตือนความทรงจำ ยินดีในการที่จะอยู่อย่างสงบ เร้าให้ทำดี และเป็นที่รวมใจ ของหมู่ชน ไม่ละเลยพิธีเคารพบูชา อันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานเหล่านั้นตามประเพณี
          7. จัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครองอันชอบธรรมแก่บรรพชิต ผู้ทรงศีล ทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก ความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และปรารถนาดีต่อมนุษยชาติ และการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความยินดีให้มี ความสุข
          อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับการมีส่วนในการปกครอง ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม


ที่มา :  http://www.oknation.net/blog/damdee/2009/06/05/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น