วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: พลังชุมชนท้องถิ่น : แนวทางการปฎิรูปประเทศไทย

คอลัมน์: บทความพิเศษ: พลังชุมชนท้องถิ่น : แนวทางการปฎิรูปประเทศไทย
บุญยิ่ง ประทุม
อาจารย์ประจำหลักสูตรการพัฒนาชุมชน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนของสังคม หลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศถึงแผนปรองดอง 5 ข้อ โดยสรุป คือ 1) การปกป้องสถาบันหลักของชาติคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ 2) การแก้ไขปัญหาส่วนโครงสร้างความไม่เสมอภาคและความเหลื่อมล้ำของสังคม 3) การมีกลไกที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนให้มีบทบาทในการลดความขัดแย้งของสังคม 4) การมีกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วิกฤติการเมือง 5) การแก้ไขประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ทั้งหมดเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิดและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไว้หลากหลายแนวทาง ผู้เขียนขอเสนอมุมมองการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้วยพลังของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นได้มีกระแสความตื่นตัวและการขับเคลื่อนสังคมในทิศทางต่างๆ และการพัฒนาองค์กรภาคประชาชนได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากบริบทเดิมๆ ที่สำคัญไม่ใช่เป็นเพียงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนขึ้นมาเท่านั้น แต่ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้และพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่น ที่มีความเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ท้องถิ่น วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น และยกระดับองค์ความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนได้ไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งในอดีตนักวิชาการหรือนักพัฒนาส่วนใหญ่ได้ยึดถือแนวคิดทฤษฎีของตะวันตกเป็นหลักนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศนั้นได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ของชุมชนที่มีอยู่ในประเทศซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้กับกระบวนการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
ดังนั้น การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้วยพลังชุมชนท้องถิ่น จึงมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาชุมชน และเมื่อมาพิจารณาถึงคำว่า “การพัฒนาชุมชน” (Community Development) ซึ่งมิได้มีความหมายเหมือนกับ การพัฒนาโดยทั่วไป แต่เป็นคำที่มีความหมาย เป้าหมาย ปรัชญา แนวคิด หลักการและการดำเนินการที่แตกต่างไปจากคำว่า “การพัฒนา” (Development) โดยทั่วไปก็คือ ปรัชญาการพัฒนาชุมชนมุ่งพัฒนาและให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด แต่การพัฒนาโดยทั่วไปมุ่งพัฒนาทางด้านวัตถุ เศรษฐกิจหรือพื้นที่เป็นหลัก, การพัฒนาชุมชนเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนอย่างมาก แต่การพัฒนาโดยทั่วไปไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนมากเท่าที่ควร หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพอเป็นพิธีหรือเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น, การพัฒนาชุมชนมีแนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและปกครองตนเอง โดยรัฐคอยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ในขณะที่การพัฒนาโดยทั่วไปมีส่วนสำคัญทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอก, การพัฒนาชุมชนเน้นขั้นตอนการดำเนินการ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด การตัดสินใจ การวางแผน ลงมือปฏิบัติและการประเมินผล แต่การพัฒนาโดยทั่วไปมุ่งที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก เป็นต้น ทำให้เห็นทิศทางของการพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมาที่ได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1-10 มาเป็นทิศทางในการพัฒนาประเทศไทย และแผนพัฒนาฯ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน คือ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยมุ่งพัฒนาคนเป็นหลักและนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และมีความสอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาชุมชนที่ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาประเทศ ดังเช่น อาจารย์สัญญา สัญญาวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงลักษณะของชุมชนเข้มแข็งไว้โดยสรุป 4 ประการ คือ 1) เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) กล่าวคือ การที่ชุมชน (คนในชุมชน) มีการเรียนรู้ และรู้เท่าทันข่าวทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งการที่ชุมชนมีการเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ 2) เป็นชุมชนที่มีการจัดการตนเอง (community management) ด้วยระบบการบริหาร จัดการในกิจกรรมที่สำคัญ 4 ประการ คือ การวางแผน การจัดกระบวนการขององค์กรภายในชุมชน การลงมือปฏิบัติตามแผนงาน และมีการประเมินผล 3) เป็นชุมชนที่มีจิตวิญญาณ (spirituality) กล่าวคือ ชุมชนมีจิตสำนึก มีจิตวิญญาณ ซึ่งอาจหมายถึงความภักดี ความรัก ความหวงแหน ความรู้สึกเป็นเจ้าของในชุมชน โดยมีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกันในชุมชน 4) เป็นชุมชนที่มีสันติภาพ (peaceful) กล่าวคือ เป็นชุมชนที่มีความสงบสุขและคนในชุมชนมีจิตใจที่เยือกเย็น มีคุณภาพ และมีคุณธรรม
ดังนั้น แนวทางการปฏิรูปประเทศและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกภาคส่วนของสังคมปัจจุบัน โดยใช้กระบวนการพัฒนาชุมชน และองค์กรชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกและเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก ส่งเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) ของกลุ่มองค์กรชุมชน ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ตลอ
ดจนเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการพัฒนาประเทศได้โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดวิถีทางในการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศ โดยอาศัยพลังของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศและทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย.

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/tpd/928784

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น