วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

บทความ


เมืองน่าอยู่
โดย ปรีดิ์ บุรณศิริ
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลพวงด้านหนึ่งจากการเติบโตของเมืองที่ไร้ระเบียบ และอีกด้านหนึ่งเกิดจากการ
พัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดหาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ในกระบวนการผลิตและรูปแบบของการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทรัพยากรอันจำกัด
ของประเทศและสิ่งแวดล้อม ถูกใช้สอยและทำลายเสื่อมสภาพทั้งปริมาณและคุณภาพ
จนเกือบหมดศักยภาพและยากที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

        ในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทย (เช่นเดียวกับหลายๆประเทศ) เริ่มให้ความสำคัญ
กับแนวทางการพัฒนาเมืองแนวใหม่ คือการพัฒนาเมืองใหม่ให้น่าอยู่อย่างยังยืน อันเป็นแนว
นโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาพื้นที่เมืองเพราะการพัฒนาในแนว
ทางนี้จะต้องมีการดำเนินงานที่ประสานและสนับสนุนสอดคล้องซึ่งกันและกันในหลาย ๆด้าน
และหลายสาขาพร้อม ๆ กันอย่างมีระบบเป็นเชิงองค์รวม (Holistic Approach) คือ
กระบวนการพัฒนาที่มีการวางกรอบวิสัยทัศน์ และแนวทางพัฒนาที่สอดคล้องต้องกัน
ทั้งในด้านประชากรทรัพยากร สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมอื่นๆทาง
กายภาพที่สร้างขึ้น(Built Environment) ทรัพยากรด้านศิลปะวัฒนธรรม ความรู้และ
วิทยากรสมัยใหม่
 โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูและ
พัฒนาทรัพยากรที่สร้างทดแทนใหม่ได้ และมีการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เสริมสร้างจิตวิญญาณและคุณค่าของเมือง
ด้วยการให้ความสำคัญต่อการดำรงรักษาฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมที่ดีงามเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เปิดโอกาสให้
ท้องถิ่นเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพของตนเอง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ที่เป็นผลของการจัดระเบียบใหม่ของโลกการค้าและเทคโนโลยี โดยมีกรอบกลยุทธ์เพื่อไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

           สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณะสุขเป็นหน่วยงานราชการแรกที่มีบทบาทในเรื่องเมืองน่าอยู่ เนื่องจากกระทรวง
สาธารณะสุข ได้นำแนวความคิดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพประชากรรวมเข้ากับเมืองแห่งสุขภาพตามข้อเสนอแนะ
ขององค์การอนามัยโลกภาคพื้นยุโรป ซึ่งได้จัดการประชุมขึ้นที่เมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี พ.ศ. ……….มากำหนดเป็นแผน
ปฏิบัติงาน โดยเชื่อมโยงสุขภาพคนเข้ากับเมืองแห่งสุขภาพ

           ในระยะเวลาต่อมารัฐบาลมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงาน
หน่วยงานทั้งหลายที่ทำเรื่องเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในเมืองหรือชุมชนในชนบท ให้สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างเท่าเทียมกัน มีความสะดวกสบาย สะอาดถูกสุขลักษณะ
ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและอย่างเกื้อกูลกันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม

ลักษณะสำคัญของเมืองน่าอยู่
           ลักษณะสำคัญของเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่นั้น จะถูกผสมผสานอยู่ในเรื่องราวต่างๆ 5 ด้าน ด้วยกันกล่าวคือ

1.ด้านสังคม เมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ควรมีสังคมที่
- ประชาชนได้รับการศึกษา รู้เท่าทันข่าวสาร
- มีบริการด้านสุขภาพและบริการที่จำเป็นอย่างพอเพียงและสะดวก
- มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- มีคดีอาชญากรรม ยาเสพติดจำนวนน้อย
- ทุกคน ทุกฝ่ายในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
- สิทธิของประชาชนได้รับการคุ้มครอง

2.ด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมของเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ควรมีลักษณะ
- สามารถควบคุมของเสียในดิน ในน้ำ และในอากาศได้ และต้องไม่มีเสียงดังเกินไป
- เป็นเมืองที่ประชาชนมีจิตสำนึกและความภูมิใจในประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น
- ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและราคาไม่แพง

3.ด้านเศรษฐกิจ ภายในเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ควรมี
- บรรยากาศที่ดีสำหรับการทำมาค้าขายและการลงทุน
- ค่าครองชีพไม่แพงและประชาชนมีงานทำ

4.ด้านกายภาพ เมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ควรมีสภาพ
- เป็นเมืองที่มีระเบียบ มีการจัดสรรการใช้ที่ดินที่เหมาะสม
- มีบริการของภาครัฐ เช่น น้ำ ไฟ ถนน โทรศัพท์ อย่างเพียงพอต่อความต้องการ
- มีการเดินทางขนส่งที่สะดวก ปลอดภัย และไม่สิ้นเปลือง
- มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- มีระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม

5.ด้านการบริการจัดการ เมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่ควร
- มีความโปร่งใสและยุติธรรม
- มีประสิทธิภาพและยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
- ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกๆขั้นตอน

การพัฒนาเมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน
          ภายหลังเมื่อรัฐบาลได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯรวบรวมหน่วยงานที่ดำเนินการนโยบาย
เกี่ยวข้องกับเมืองน่าอยู่ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อที่จะกำหนด
กรอบและแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาให้เกิดเมืองน่าอยู่ขึ้นในประเทศ โดยกรอบดังกล่าวกำหนด
แนวทางไว้ 4 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 ประชาชนต้องอยู่ในเมืองนั้นด้วยความผาสุข
ประการที่ 2 เมืองจะต้องมีบริการพื้นฐานที่สะดวกสบายพอเพียงและทันต่อเวลา
ประการที่ 3 ประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
ประการที่ 4 มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

       จากแนวความคิดและองค์ประกอบในการสร้างเมืองให้น่าอยู่ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
หลายฝ่ายก็มักเกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อมีแนวทางแล้ว ทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้าง
ความน่าอยู่ให้เกิดขึ้นกับเมืองได้ ดังนั้นคณะทำงานฯจึงนำเสนอแนวคิดของการจัด
โครงสร้างเพื่อนำไปสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนไว้ดังนี้
องค์ประกอบที่ 1 ว่าด้วยนโยบายและวิสัยทัศน์ของเมือง ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็กจนถึงเมืองใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารของเมืองจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์นโยบายว่า อยากที่จะให้เมืองของท่านเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างไร โดยในการกำหนดนโยบายเพื่อให้ได้มาซึ่งวิสัยทัศน์ที่ดีของเมืองนั้น ในขั้นต้นผู้บริหารพึงกำหนดให้มีแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาชุมชน แผนพัฒนาที่อยู่อาศัย แผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นต้น และเมื่อมีแผนพัฒนาต่างๆเหล่านี้แล้ว ท้องถิ่นจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยให้แผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้ได้ ฉะนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นกฎหมายที่สอดรับกับนโยบายของท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติผังเมืองและพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ในขณะที่กฎหมายฉบับที่สนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถระดมความคิด ถือเป็นเครื่องมือที่ดีได้ เช่น พระราชบัญญัติการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนา เป็นต้น

องค์ประกอบที่ 2 เมื่อมีนโยบายมีวิสัยทัศน์แล้ว การที่จะให้เป็นไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์นั้นได้ จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรบริหารจัดการ ซึ่งก็คือ องค์กรบริหารส่วนตำบล เทศบาลหรือเทศบาลนครนั่นเอง องค์กรเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนบริหารอบต. หรือว่าองค์กรในระดับรัฐบาลจะมีการรายงานมาเป็นลำดับขั้น ซึ่งในที่นี้ถือว่าการดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกรอบที่รัฐบาลกำหนด แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีองค์กรอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "องค์กรมหาชน" หรืออาจจะเป็นในรูปของบรรษัทพัฒนาเมือง หรือบรรษัทพัฒนาพื้นที่ มาเป็นเครื่องมือ โดยที่การวิเคราะห์ใช้เครื่องมือเหล่านี้ต้องมองเรื่องผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์ด้วยเสมือนหนึ่งเป็นบริษัทเอกชน แต่ว่าเป็นของรัฐ ตัวอย่างขององค์กรพัฒนาเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้า ฯลฯ ในที่สุดแล้ว ท้องถิ่นจะสามารถมีองค์กรพัฒนาได้เหมือนกัน บทบาทในการพัฒนาพื้นที่ของตน อาจจะได้รับความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นหรือว่าร่วมระดมทุนกับภาคเอกชน ก็ได้

องค์ประกอบที่ 3 ที่สำคัญที่สุดเมื่อมีนโยบายและมีรูปแบบการเป็นเมืองที่น่าอยู่แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เรื่องของเงิน เราพบว่าการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองนั้น จะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการระดมทุนของท้องถิ่นในรูปแบบของการจัดเก็บภาษี เพราะในแนวความคิดเรื่องเมืองน่าอยู่นั้น ชุมชนใดต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสาธารณูปโภค-สาธารณูปการใด ท้องถิ่นนั้นก็จะต้องจ่ายเพื่อความสะดวกสบายเหล่านั้น เช่น ชุมชนแต่ละแห่งก็มีความต้องการถนนเพื่อเข้าสู่ชุมชนแตกต่างกัน ในพื้นที่เมืองอาจต้องการถนนขนาดใหญ่ที่แข็งแรง ในขณะที่ชุมชนชนบท ต้องการเพียงถนนทางเข้าหมู่บ้านเล็กๆ ฉะนั้นโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของคนเมืองย่อมต้องสูงกว่าในชนบท เพราะผลตอบแทนที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ในสาธารณูปโภคต่างกัน แต่จากการศึกษาพบว่า การลงทุนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละจังหวัดของภูมิภาคท้องถิ่นเองสามารถระดมทุนได้เพียงร้อยละ 7 ของงบที่จะต้องใช้พัฒนาทั้งหมด ในขณะที่องค์กรบริหารส่วนกลางจากรัฐบาล เช่น กรมชลประทานหรือว่ากรมทางหลวงนำเงินจากส่วนกลางไปลงทุนในท้องถิ่น ประมาณร้อยละ 20 นอกจากนั้น ประมาณร้อยละ 66 เป็นการลงทุนที่รัฐบาลส่วนกลาง ให้รัฐวิสาหกิจนำเงินจากภาครัฐไปลงทุนในท้องถิ่น ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ทรัพยากรทางการเงินของท้องถิ่นอ่อนแอมาก ท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ด้วยการมีวิสัยทัศน์ มีองค์กรที่ดี แต่ว่าขาดเงินจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

         แนวความคิดและองค์ประกอบดังกล่าว จึงเป็นการสร้างภาพในอนาคตอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้นโยบายเรื่องเมืองน่าอยู่เป็นรูปธรรม
ที่ชัดเจนได้ หากทุกคนและทุกฝ่ายมีแนวทางการปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ความสำคัญในการสร้างเมืองน่าอยู่นั้นใช่ว่าต้องการ
เพียงสร้างเมืองให้มีรูปแบบที่สวยงาม หรือเห็นและสัมผัสได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่โดยหลักการแล้วเมืองน่าอยู่ จะต้องสามารถ
ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท ให้สามารถใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่พอเหมาะแก่การดำรงชีวิต
ตลอดจนยกระดับความรู้สึกที่จะร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนที่อยู่ให้ดีขึ้น เพราะท้ายสุดแล้วเมืองน่าอยู่ก็คือ
เมืองที่ประชาชนมีชีวิตอยู่ด้วยความผาสุก"นั่นเอง







http://sawasdee.bu.ac.th/article/sgl440702.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น