วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

แหล่งความรู้


ชุมชนคือแหล่งความรู้

โดย: ดร.อุทัย ดุลยเกษม


เมื่อกลไกการเรียนรู้แบบแนวนอน คือชุมชนเรียนรู้จากกันเองมีน้อยมาก แล้วเราจะคาดหวังให้ชุมชนน่าอยู่ได้อย่างไร

ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับชาวชนบทบ่อยครั้ง และในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ชาวชนบทที่ผมได้มีโอกาสคลุกคลีหรือทำงานด้วยระยะสั้นมักจะอยู่ในระดับ แกนนำ ของชุมชน เช่น อาจจะเป็นผู้นำกลุ่มสตรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือผู้นำกลุ่มอาชีพในชุมชน เป็นต้น คนเหล่านี้มาจากหลายอาชีพ ตั้งแต่ทำนา ทำไร่ ทำประมง ค้าขายเล็กๆน้อยๆ ตลอดจนเป็นคนงานรับจ้าง
ผมพบว่าชาวชนบทเหล่านี้ส่วนมากผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนเพียงระดับประถม ศึกษาเท่านั้น แต่เรียกได้ว่าทุกคนมีความสามารถในการเขียนการอ่านได้พอสมควร แกนนำชุมชนกลุ่มนี้อาจจะเป็นชาวชนบทที่มีลักษณะพิเศษกว่าชาวบ้านอื่นๆก็ได้ เพราะมีผู้นำเอาใจใส่ในกิจการภายในชุมชน เป็นชุมชนที่มักมีเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชน (NGO) เข้าไปร่วมทำงานด้วย หรือไม่ก็มีหน่วยงานราชการบางหน่วยเข้าไปสนับสนุนเป็นการจำเพาะ เช่น กรมการศึกษานอกโรงเรียนเข้าไปอบรมบางด้าน หรือกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปอบรมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น


เหตุที่ผมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ได้ชักชวนไป เป็นวิทยากร บางครั้งก็เข้าไปสนทนากับชาวบ้าน ทุกครั้งที่ได้เข้าชุมชน ผมเรียนรู้สิ่งต่างๆมากทีเดียว บางคนอาจคิดว่าผมเข้าไปในฐานะ ผู้ให้ (ความรู้) ชาวบ้าน แต่ในความเป็นจริง ผมเองก็ได้เรียนรู้จากชาวบ้านไม่น้อยเลยจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผมสังเกตว่าระยะหลังๆนี้ กลไกการเรียนรู้ภายในชุมชนชนบทของเราได้สูญหายไปมาก โดยเฉพาะกลไกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง กลายเป็นการเรียนรู้แบบสมัยใหม่ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เช่น โรงเรียน ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน หอกระจายข่าว วิทยุ และทีวี เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีกลไกการเรียนรู้ที่ผ่านตัวบุคคล ซึ่งมีทั้งบุคคลของรัฐและบุคคลจากภาคธุรกิจ (เซลส์แมน)

การเรียนรู้แบบใหม่นี้เป็นลักษณะ แนวตั้ง โดยที่แหล่งความรู้ดูจะทรงอำนาจมากกว่า (เพราะมีความรู้มากกว่า) ประชาชนเป็นเพียงผู้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเซื่องๆเท่านั้น กล่าวกันถึงที่สุดแล้ว การเรียนรู้ในลักษณะนี้มิได้ช่วยให้ประชาชนเรียนรู้ได้จริง นอกจากรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีโอกาส ย่อย อย่างวิพากษ์วิจารณ์ด้วย จึงเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากถูก ครอบงำ ด้วยข้อมูลข่าวสารทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจได้ง่าย

สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้นับว่าน่าเสียดายนัก เพราะแท้ที่จริงแล้วในอดีตที่ไม่นานนัก ชุมชนของสังคมไทยล้วนมีกลไกที่เอื้อต่อการเรียนรู้อยู่มาก ช่วยให้คนไทยในชนบทได้เรียนรู้สรรพสิ่งทั้งหลายจากคนในชุมชนด้วยกันด้วยวิธี การหลากหลาย อาจเรียนรู้ได้ภายในครอบครัว วัด หรือมัสยิด หรือพูดได้ว่าอยู่ในบริบทของชุมชนนั้นเอง บางอย่างก็เป็นวิถีชีวิต เช่น กลุ่มอาชีพในชุมชน หรือรูปแบบของการใช้พาหนะก็เอื้อให้ผู้คนในละแวกเดียวกันได้มีโอกาสแลก เปลี่ยนเรียนรู้กันได้มากและต่อเนื่อง

ลองนึกดูว่า การที่ชาวบ้านนั่งเรือจากชุมชนไปตลาดคราวละ 5 คน 8 คน โอกาสที่จะเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรระหว่างกันย่อมจะมากกว่าที่แต่ละคนขี่ มอเตอร์ไซค์ออกจากหมู่บ้านไปตามลำพัง หรือการที่ผู้คนในหมู่บ้านได้ไปทำบุญทำทานในวันพระ วันโกน ที่วัดในหมู่บ้าน ก็มีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆจากกันและกันได้มาก และสิ่งที่เรียนรู้ก็ใกล้กับวิถีชีวิตของตนมากกว่าที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากทีวีมิใช่หรือ หรือการที่ในชุมชนจัดตลาดเช้าให้ทุกคนนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันทุก สัปดาห์นั้น ก็เป็นกลไกที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ของผู้คนในชุมชนทั้งสิ้น

ออกจะน่าเสียดายที่กลไกเหล่านี้กำลังสูญหายไป ในขณะนี้ ชาวบ้านนิยมออกไปจับจ่ายใช้สอยซื้อทั้งของกินของใช้ในตลาดในเมือง หรือไม่ก็มีพ่อค้าแม่ค้าเร่จากภายนอก นำสินค้าเข้ามาขายในหมู่บ้าน ชนิดมาบริการถึงหัวกระไดบ้าน บ้านใครบ้านมัน ทำให้โอกาสที่ผู้คนในชุมชนจะได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแทบจะไม่มี

การที่กลไกการเรียนรู้ภายในชุมชนที่เคยมีอย่างเหลือเฟือในอดีต ถูกทำให้อ่อนกำลังหรือหมดหน้าที่ลงไป ก็ย่อมทำให้ผู้คนในชนบทขาดโอกาสที่จะเรียนรู้จากกัน และโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตนบนพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน ก็ลดน้อยลงไปเป็นอันมาก เราจึงพบว่า ชาวชนบทจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ และถูกเอาเปรียบจากภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้ไม่ทันต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยนี้

แม้ผมจะได้คลุกคลีกับชาวชนบทเหล่านี้ในช่วงเวลาไม่นานนัก แต่ผมก็เกิดความรู้สึกว่าเขาขาดความมั่นใจในศักยภาพของตนเองอย่างมากทีเดียว ไม่ว่าจะเอ่ยถึงเรื่องอะไร ความรู้สึกของชาวบ้านโดยรวมก็คือ "เขาไม่รู้" หรือ "เขารู้ไม่พอ" "เขาทำไม่ได้" เช่น พอพูดถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องจัดการศึกษาให้กับลูกหลาน คำตอบที่มักจะได้ยินอยู่เสมอก็คือ "พวกเราไม่มีความรู้" "ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของครูหรือโรงเรียนรับผิดชอบ" พอพูดถึงเรื่องสุขภาพอนามัย คำตอบก็จะออกมาคล้ายๆกันคือ "ไม่มีความรู้" "ไม่มีความสามารถ" "ต้องยกให้พยาบาลหรือแพทย์ และโรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบ" เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวชนบทในด้านการขาดความมั่นใจในศักยภาพของตน เอง ไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาสังคมไทยในยุคสมัยนี้อย่างแน่นอน

ผมคิดว่าเราน่าจะต้องช่วยกันหาหนทางปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว หาไม่สิทธิทั้งหลายทั้งปวงที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็มิได้ผลอะไรจริงจังกับ ประชาชนโดยทั่วไป

สิ่งแรกที่ผมคิดว่าควรจะลงมือทำได้เลยก็คือ การสนับสนุนส่งเสริมกลไกการเรียนรู้ภายในชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ถ้ามีอยู่บ้างแล้วก็ควรพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติและเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ในชุมชน

นอกจากนี้ การทำกิจกรรมใดๆของหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน สิ่งที่ต้องคำนึงให้มากคือ กิจกรรมนั้นๆจะต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ให้มาก เครื่องมือใหม่ๆที่ช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น วิธีการเอ.ไอ.ซี.(AIC)วิธีเมตาแปลน (Meta plan) และอื่นๆควรส่งเสริมให้ใช้ เพราะเครื่องมือดังกล่าวนี้จะช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสเรียนรู้จากกันและกันได้ มากในช่วงเวลาอันสั้น

กิจกรรมบางอย่างของชุมชนเช่นตลาดนัด งานเทศบาล หรือแม้แต่งานบวช งานตาย ถ้าจัดขึ้นภายในชุมชนอย่างเรียบง่าย ก็จะเป็นกลไกการเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในชุมชนได้มาก

ความพยายามทั้งของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในอันที่จะผลักดันให้เกิด ประชาคม (Civil Society) ขึ้นในระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบลนั้น จะไม่มีวันสำเร็จได้เลย ถ้าภายในจังหวัด อำเภอ หรือตำบลนั้นๆขาดกลไกการเรียนรู้ภายในที่ช่วยให้สมาชิกได้เรียนรู้จากกันได้ อย่างต่อเนื่อง

ที่กล่าวมานี้ มิได้ตีขอบเขตอยู่จำเพาะชุมชนชนบทเท่านั้น แม้แต่ในชุมชนเมืองซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งความรู้มากมาย แต่เมื่อวิเคราะห์กันอย่างละเอียดก็จะพบได้โดยไม่ยากว่า กลไกการเรียนรู้แบบแนวนอน คือชุมชนเรียนรู้จากกันเองมีน้อยมาก แล้วเราจะคาดหวังให้ชุมชนน่าอยู่ได้อย่างไรกัน

จาก: นิตยสาร Life & Family

http://www.momypedia.com/boxTh/knowledge/printpage.aspx?no=3901&p=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น