วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555
พลังชุมชน กับการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่
1. เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ คืออะไร
เมืองน่าอยู่ (Healthy Cities) และชุมชนน่าอยู่ (Healthy Communitites) เป็นเมืองและชุมชน (ในเมือง หรือชนบท) ที่มีการสร้างสรรค์ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางสังคม และทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง มีการขยายการใช้ทรัพยากรของเมือง ทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประชาชนมีพลัง หรือความสามารถที่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชีวิต เป็นการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของคน (พนัส พฤกษ์สุนันท์, 2544:3)
2. เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ปี พ.ศ.2543 สำนักงานคณกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดเมืองน่าอยู่ / ชุมชนน่าอยู่ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีลักษณะและองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ ความเป็นประชารัฐ และความน่าอยู่ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเมืองแห่งชาติ, 2543:10-11)
3. การสร้างพลัง คืออะไร
การสร้างพลัง (Empowerment) เป็นกระบวนการทางสังคม ที่ส่งเสริมให้บุคคล องค์กร และชุมชน มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถควบคุมตนเอง มีความสามารถในการเลือก และกำหนดอนาคตของตนเอง ชุมชน และสังคมได้ การสร้างพลังจึงเป็นกระบวนการ ที่บุคคลสามารถกระทำร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในแนวทางที่พึงปรารถนา แต่ไม่ใช่เป็นพลังที่จะไปบังคับ หรือครอบงำคนอื่น (Wallertein & Bernstein, 1988:379-394) แนวคิดการสร้างพลังจะเน้นการเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับบุคคล และส่งเสริมสการรวมกลุ่มกัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังจึงสอดคล้องกับ แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ ที่มิได้เน้นเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ระดับบุคคลเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระดับสังคมด้วย สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า "เป้าหมายสุดท้ายของกลวิธีการดูแลตนเอง คือ การสร้างพลังให้ประชาชน สามารถกำหนด หรือจัดการกับสุขภาพของตนเองได้" (WHO, 1991:4)
3.1 ทฤษฎีการสร้างพลัง (Empowerment Theory)
ทฤษฎีการสร้างพลัง มาจากแนวคิดของการศึกษาเพื่อการสร้างพลัง ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาที่เน้น ให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เกิดความนับถือเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง วิธีการที่ใช้ในการจัดการศึกษา เพื่อการสร้างพลังนี้ จะเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน อย่างเต็มที่ (Active Participation) โดยใช้วิธีการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดระหว่างผู้เรียน ให้ผู้เรียนสามารถระบุปัญหาของตน วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ มองภาพอนาคตได้ สามารถพัฒนากลวิธีที่จะแก้ไขปัญหา และดำเนินการแก้ไขปัญกา การจัดการศึกษาการสร้างพลังนี้ จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) มีความคาดหวังในความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) สูงขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ เจตคติ และทำให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องมากขึ้น ในแต่ละบุคคล ทั้งยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาความเสมอภาคในสังคมด้วย (Wallertein & Bernstein, 1988:379-394)
3.2 ระดับของการสร้างพลัง
การสร้างพลัง เน้นอิทธิพลที่เกี่ยวข้องในด้านการควบคุมตนเอง (Personal Control) และอิทธิพลที่เกี่ยวข้องทางด้านสังคม หรือชุมชน (Social Control) ระดับของการสร้างพลัง แบ่งออกเป็น 3 ระดับ (ปริญญา ผกานนท์, 2543:27-29) ดังนี้
การสร้างพลังให้ตัวบุคคล พลังในตัวบุคคลจะเกิดขึ้นได้กับบุคคลที่ได้รับ การสนับสนุนส่งเสริมให้แสดงออก ซึ่งความสามารถในการพัฒนาแนวคิด และการทำงานสู่ความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น สามารถพึ่งตนเองได้ และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
การสร้างพลังในองค์กร เป็นการส่งเสริม และสนับสนุนให้สมาชิกในองค์กร มีส่วนร่วมในอำนาจขององค์กร ตั้งแต่ การใช้ประโยชน์จากข้อมูล มีกระบวนการตัดสินใจ การกำหนดวิธีดำเนินงาน และการควบคุมความพยายามต่างๆ ต่อจุดมุ่งหมายที่กำหนดร่วมกัน ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยง ในกลุ่มสมาชิกเพื่แสร้างเป็นพลังองค์กร แล้วไม่เชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ และชุมชนในเชิงอำนาจ หรือพลังโน้มน้าวอนาคต และการตัดสินใจในสังคมที่กว้างขึ้น
การสร้างพลังในชุมชน เป็นระบบคุณค่าทางสังคม (Social Value) ซึ่งแสดงออกถึง การรวมตัวของประชาชนในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมของชุมชนร่วมกัน ด้วยความสามัคคีเกื้อกูล มีการจัดการที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังในการพัฒนาชุมชน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ของประชาชนในชุมชน โดยปล่อยให้ชุมชนได้มีโอกาสตัดสินใจ และเลือกหนทางในการแก้ปัญหาของชุมชนเอง
3.3 จะสร้างพลังชุมชน ด้วยวิธีการใด
หัวใจของการสร้างพลัง คือ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีกทุกฝ่าย ต่อการพัฒนาชุมชน หรือแก้ไขปัญหาจของชุมชน เกิดผลของการเรียนรู้ คือ พลังความรู้ การตัดสินใจ และความสามารถในการพัฒนาชุมชน หรือสังคมอย่างยั่งยืน และกระทบผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีหลักการสำคัญ ดังนี้
รวม "พลังใจ" การที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมด้ามใดก็ตาม ขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ คือ การรวมตน เพื่อรวมพลังใจ เป็นการสร้างเสริมใจซึ่งกันและกัน เกิดความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออาทร มีความสนใจ และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ทำให้เกิดจิตสำนึกในการแก้ไข หรือพัฒนาท้องถิ่น การรวมกัน รวมใจ เป็นการส่งเสริมให้เกิดประชาคม หรือเวทีประชาคม โดยใช้ประเด็นที่ชุมชนสนใจ มาเป็นเครื่องมือในการรวมคน
สิ่งที่สำคัญ คือ การค้นหาผู้นำที่มีจิตวิญญาณ มีอุดมการณ์ต่อสถานการณ์ หรือประเด็นต่างๆ ที่ชุมชนสนใจให้ได้ โดยการเสนอตน ตามความสมัครใจ หรือให้ชุมชนเป็นผู้เสนอ ผู้นำเหล่านี้ มักเป็นผู้นำตามธรรมชาติ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน อดกลั้น จิตใจอาสาสมัคร อาจเป็นพระภิกษุ หมอพื้นบ้าน นักพัฒนา และข้าราชการยุคใหม่ ฯลฯ หากเราสามารถรวมพลังใจ ของผู้นำเหล่านี้ได้ จะทำให้ได้คนที่มีคุณภาพ มีพลัง และรวมตัวกันอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานในขั้นต่อๆ ไป ประสบความสำเร็จ
บางกรณีเกิดจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนา เข้าไปกระตุ้นให้คนในชุมชนรวมตัว เพื่อพัฒนาชุมชน วิธีการนี้ ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ได้เฉพาะกาย ไม่ได้ใจ และมักได้คนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีพลัง เป็นการรวมคนที่ไม่มีความยั่งยืร ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานในขั้นต่อๆ ไป ไม่ประสบผลสำเร็จ
การระดม "พลังความคิด" เมื่อรวมคนได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ "การร่วมคิด" โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ วิเคราะห์ปัญหา และโอกาสอย่างรอบด้าน รวมทั้งการกำหนดแนวทาง วิธีการ และแผนงานในการแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ และยั่งยืน
ก่อเกิด "พลังการจัดการ" ขั้นตอนนี้จะเกิด "การร่วมทำ" ดำเนินงานตามแนวทาง วิธีการ และแผนงานที่กำหนดในขั้นตอนที่ 2 สิ่งที่ควรทำในขั้นตอนนี้ คือ การจัดระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่น การแบ่งบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของภาคี การพัฒนาต่างๆ อย่างเหมาะสม มีความเคารพนับถือ และให้การยอมรับความรู้สึก ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีความจริงใจต่อกัน มีความเอื้ออาทร และความหวังดีระหว่างสมาชิก ย่อมทำให้เกิดการดำเนินงานราบรื่น และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ
สร้าง "พลังภูมิปัญญา การขับเคลื่อนกิจกรรมแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาสังคมใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ขาดเสียมิได้ ก็คือ การสรุปบทเรียนร่วมกัน เป็นการติดตามประเมินผล โดยเริ่มต้นจากการประเมินผลตนเอง และประเมินผลงาน ผ่านกระบวนการกลุ่ม และเครือข่ายการเรียนรู้ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อ ทักษะ องค์ความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ นำไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเป็นชุมชนที่มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ
สร้าง "พลังปิติ" ขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการ คือ การรับผลจากการกระทำ เป็นการสร้าง "พลังปิติ" โดยการยกย่อง ชื่นชม ให้กำลังใจ แก่คนที่มีความตั้งใจ และเสียสละให้กับชุมชน และสังคม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน ส่วนปัญหา อุปสรรคที่เกิดจากการกระทำ ถือว่าเป็นบทเรียนที่ต้องนำมาปรับปรุง พัฒนาไม่ให้เกิดขึ้นอีก
สร้าง "ภาพลักษณ์" เป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ไปสู่องค์กรชุมชนอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การประชาสัมพันธ์ จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้เพิ่ม หากเป็นองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์จะเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติแก่ผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เป็นต้น
4. ทำไมจึงต้องสร้างพลังชมชน ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่
ในกระแสโลกาภิวัฒน์มีการสื่อสารข้อมูลสารสนเทศ อย่างรวดเร็ว และโยงใยถึงกันทั่วทุกแห่ง ทั้งในเมืองและชนบท การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ ของโลก สู่การค้าเสรี การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สิ่งแวดล้อม และระบบต่างๆ ในสังคม ณ มุมใดของโลก จะส่งอิทธิพลกระทบไปทั่วถึงกันหมด และรวดเร็ว ก่อเกิดปัญหามากมาย ในสังคม และชุมชนที่กำลังพัฒนา ซึ่งต้องการการแก้ไขอย่างรอบด้าน และบูรณาการ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาชุมชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน การอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะส่วนจึงไม่พอ และจะต้องเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันด้วย นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้กำหนดการกระจายอำนาจ และตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นตนเอง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
การพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนทั้งในเขตเมือง และชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดี อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ การพัฒนาเมืองน่าอยู่ และชุมชนน่าอยู่เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และชุมชนน่าอยู่ให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชน และทุกภาคีการพัฒนา (คณะกรรมการพัฒนาเมืองแห่งชาติ, 2543:8-9) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น โดยระดมการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบในผลการพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริง อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ในการพัฒนาเมือง และชุมชนให้น่าอยู่ตามความต้องการ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จ ในการพัฒนา และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการเชิงพื้นที่ในมิติใหม่ ด้วยการพัฒนากระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ให้เกิดพลังของคนในชุมชน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ในการพัฒนาแก้ไขปัญหา สนับสนุนให้ชุมชนจัดทำแผนของชุมชนเอง โดยใช้การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ตลอดจนสนับสนุนให้ชุมชนสามารถพัฒนาชุมชน ในลักษณะการพึ่งพาตนเองได้ แทนการรอรับบริการจากภาครัฐอย่างเดิม ดังนั้น จึอต้องมีการเตรียมชุมชนให้พร้อม เข้าร่วมพัฒนา การสร้างพลังชุมชนจึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ
5. สรุป
ในการสร้างพลังชุมชนด้วยกระบวนการเรียนรู้ แบบมีส่วนร่วมนั้น เป็นบรรยากาศของความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วน รวมทั้งสร้างวิธีคิดที่เป็นระบบ คิดแบบองค์รวม ภาครัฐ หรือข้าราชการต้องเข้าใจว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มิใช่เป็นของข้าราชการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นของประชาชน ข้าราชการทุกกระทรวงต้องร่วมมือ ประสานงานกัน สนับสนุนให้ประชาชนมีพลังความสามารถ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามกระบวนการของชุมชน และพึ่งพาตนเองได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม
http://advisor.anamai.moph.go.th/conference/power/power00.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น