วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ตัวอย่าง ชุมชนพอเพียง


บ้านจำรุง ต้นแบบชุมชนพอเพียง
บ้านจำรุง ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกของประเทศไทย  ด้วยสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนเน้นการพึ่งพาตนเอง จนเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างที่ดี มีผู้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดทั้งปี หมู่บ้านจำรุงส่งเสริมให้ประชาชน ได้นำผักพื้นบ้านมารับประทาน อาทิ ดอกอัญชัน ยอดมะระ ขมิ้นชัน ชะอม ใบชะพลู ใบบัวบก ยอดเสม็ดแดง ฯลฯ ใช้ประกอบเป็นอาหารหลัก รวมถึงชวนเชิญนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นลูกค้าของร้านส้มตำจำรุงได้บริโภคผักพื้นบ้านเหล่านี้ จนกระทั่งได้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ที่นักท่องเที่ยวรู้จักและคุ้นเคย
กลุ่มผู้สูงอายุบ้านจำรุงเป็นตัว อย่างของการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพมากมาย อาทิ ผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุงจำหน่ายในร้านค้าของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี โดยมีโรงสีข้าวชุมชนเองมีการผลิตข้าวซ้อมมืออย่างต่อเนื่อง และนำเศษแกลบรำส่งให้กับกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้านทำปุ๋ยชีวภาพ และนำปลายข้าวขายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำ



นอกจากนี้บ้านจำรุงยังก่อตั้งกลุ่มธนาคารขยะ ผู้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของเศษของที่เหลือใช้ แม้แต่ขยะมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อม รับซื้อขยะทุกประเภทมีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้เด็ก เยาวชนได้รับรู้ถึงขยะสิ่งของเหลือใช้ ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติในการรักษ์สิ่งแวดล้อม
เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน กลุ่ม ผู้ใช้น้ำจะรวมตัวกันทำอาหารเลี้ยง รับรอง โดยใช้ผักพื้นบ้านเป็นอาหารหลัก ให้รับประทาน รายได้นำไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน นอกจากนี้บ้านจำรุงยังมีการบริการที่พักชุมชนโฮมสเตย์ ให้กับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจในวิถีชีวิตที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ได้มาสัมผัสและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน



ทั้งนี้การบริหารจัดการชุมชน โดยมีแกนนำที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาสังคมชุมชนที่พร้อมต่อการเรียนรู้ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสาน กับเทคโน โลยีใหม่ ๆ นำมาปรับใช้ในปี 2548 ได้นำชุมชน เครือข่ายชุมชน ผู้นำชุมชน เข้าสู่โครงการมาตรฐานชุมชน (มชช.) และสามารถผ่านการประเมินจากคณะกรรมการ ติดตามประเมินผล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เป็นจุดนำร่องต้นแบบ เผยแพร่ แนะนำชุมชนอื่น ๆ เพื่อเข้าสู่การประเมินมาตรฐานชุมชนในปีต่อ ๆ ไป
ชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้ใหญ่บ้านบ้านจำรุงเข้ามารับหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี             2547-2552       เล่าให้ฟังถึงรูปแบบการจัดการชุมชนจนได้รับเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องว่า การทำหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนี้ ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องเงิน แต่มุ่งหวังเรื่องการเรียนรู้ ปัญหาคือ ชุมชนอ่อนแอเพราะขาดความรู้  ถ้าเราแบ่งคนเป็น 3 ฐาน ฐานที่ 1 คือคนระดับมันสมอง จะไหลออก ไม่อยู่ในชุมชน ผู้ที่เรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษามักไม่กลับไปบ้านเกิด ทำให้ชุมชนอ่อนแอไปเรื่อย ๆ ต้องหาทางให้คนกลุ่มนี้กลับมา ซึ่งยากเพราะแต่ละคนมีภารกิจหน้าที่ต้องดูแลครอบครัว

เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้คนกลุ่มที่ 2 และ3 ที่อยู่ในพื้นที่ให้เก่งให้ได้ กลุ่มที่ 3 คือฐานล่างที่สุด  เพราะมีการเรียนรู้ช้า ต้องใช้เวลาในการพูดคุย หรือทำงานมากกว่ามาตรฐานคนปกติ 3 เท่า จึงจะสามารถขยับตัวขึ้นมาเป็นคนกลุ่มที่ 2 ได้ และทำให้คนกลุ่มที่ 2 พัฒนาเป็นคนกลุ่มที่ 1  แต่ก็อยากให้คนกลุ่มที่ 1 ที่เคยออกจากพื้นที่ กลับมาเยี่ยมเยียนบ้าน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนในพื้นที่แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว


“อีก 10 ปีข้างหน้าหมู่บ้านนี้จะมีองค์ประกอบทุกอย่างพร้อม เราต้องการเด็กที่เก่งเรื่องการเงินสักคนหนึ่งมาบริหารจัดการเรื่องธนาคาร อยากได้ผู้จัดการมินิมาร์ทสักคนหนึ่งมาบริหาร เงินเดือนเพียง 7-8 พันบาทก็อยู่ได้ อยากได้วิศวกรโรงงานสักคนหนึ่ง กินเงินเดือนสักหมื่นมาอยู่ที่โรงงาน สิ่งเหล่านี้ได้วางแผนไว้แล้ว แต่ต้องใช้เวลาต่อไป เพราะเป็นงานพัฒนาคน สร้างคนรุ่นใหม่จากชุมชน ส่งเสริมการศึกษาซึ่งได้มีการวางแผนกันไว้แล้วว่าคนไหนจะไปอยู่จุดไหน” ผู้นำชุมชนบอกถึงทิศทางการพัฒนาชุมชน

วันนี้เราต้องให้ความสำคัญกับชุมชนฐานล่างให้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ ควรมีศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศไทย เพราะศูนย์การเรียนรู้มีค่า เราจึงเปิดมหาวิทยาลัยที่สอนหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างเช่น วิชาส้มตำก็สอนให้ฟรี ถ้าเขากลับไปปลูกมะละกอสัก 5 ต้นก็คุ้มแล้ว สอนทุกเรื่องที่อยากรู้ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครอีก

“ยายทำสวนปลูกหลายอย่าง เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง มะปราง ส้มโอ กระท้อน เป็นไร่นาสวนผสม ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมี แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้ว ใช้ปุ๋ยหมักสบายใจกว่า ทำเกษตรแบบพอเพียง ถ้าเรารู้จักพอก็รวยแล้วทุกวันนี้ต้นทุนการผลิตลดลงมาก จากที่เคยเป็นหนี้ก็มีเงินเหลือฝากธนาคารมากขึ้น อาทิตย์ละ 500 บาท แค่นี้ก็พอใจแล้ว” ยายอุทัย รัตนพงศ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้านบอกเล่า



ปัจจุบันบ้านจำรุงมีทุนทางสังคม ที่ได้จากการเรียนรู้เรื่องของการพึ่งพาตนเองมากว่า 20 ปีเต็ม มีกลุ่มกิจกรรมมากกว่า 20 กลุ่ม มีประสบการณ์ต่าง ๆ มีบุคลากรที่มีความเสียสละเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีองค์ความรู้ในตัวเอง มีภูมิปัญญาท้องถิ่น มีประเพณีวัฒนธรรม และมีสื่อทางเลือกในการสื่อสารของตนเอง….เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่น่าชื่นชม.

http://easylife2.wordpress.com/2008/08/28/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9E/




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น