วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ความหมายของชุมชน



ชุมชนคืออะไร






คำว่า "ชุมชน" ไม่ปรากฏว่านำมาใช้กับหน่วยทางสังคมของไทยในสมัยโบราณ ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น ศิลาจารึก พงศาวดาร กฎหมายตราสามดวง รวมทั้งในหนังสือและตราสารต่างๆที่โต้ตอบกันระหว่างเมืองหลวงคือกรุงเทพฯ กับหัวเมืองมณฑลทางภาคเหนือและภาคอีสาน ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ไม่พบว่ามีการใช้คำๆนี้ แม้แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ไม่ปรากฏคำว่า "ชุมชน" เช่นกัน หากพิจารณาจากหลักฐานการจารึกทั้งในศิลาจารึกสุโขทัย (หลักที่ ๑) และในจารึกล้านนา เราจะพบคำว่า "บ้าน" "ถิ่น" และ "ถิ่นฐาน" นอกจากนี้ในคำไทยโบราณ เรายังพบคำว่า "กว้าน" หรือ "บาง" ที่ใช้เรียกการตั้งถิ่นฐานของบ้านเรือนตามริมคลอง และริมแม่น้ำในภาคกลางและภาคตะวันออก
นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาสันนิษฐานว่า คำว่า "ชุมชน" นั้น น่าจะเริ่มนำมาใช้ในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๕ โดยบัญญัติมาจากคำว่า "community" ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากว่า ในระยะนั้นอิทธิพลของวิชาสังคมศาสตร์จากประเทศตะวันตกได้แพร่ขยายมาสู่ประเทศไทย เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสังคมชนบท ทั้งโดยนักวิจัยชาวต่างชาติและนักวิชาการชาวไทยที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศด้วยทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ทุนยูเสด - USIAD) จากนั้นรัฐบาลจึงได้ใช้คำนี้เรื่อยมา จน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทยขึ้นมีชื่อว่า "กรมการพัฒนาชุมชน" และด้วยเหตุที่หน่วยงานที่มีคำว่า "ชุมชน" มักเป็นหน่วยงานด้านการปกครอง ความหมายของคำว่าชุมชนในระยะแรก จึงนำไปใช้ในความหมายที่ใกล้เคียง หรือซ้อนทับกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองที่มีขอบเขตพื้นที่ที่แน่นอนภายใต้การควบคุมของรัฐ






ความหมาย
เมื่อหน่วยงานด้านการปกครองใช้คำว่า "ชุมชน" แทนคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ความหมายของคำว่า "ชุมชน" โดยนัยนี้จึงสื่อความหมายไปในทำนองเดียวกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ที่หมายถึง หน่วยการปกครองระดับล่างสุดของพื้นที่ อีกทั้งยังมีขอบเขตทางภูมิศาสตร์ หรือทางกายภาพที่แน่นอน มีประชากรจำนวนหนึ่ง และมีระบบกลไกการปกครองที่เชื่อมต่อกับกลไกของรัฐอื่นๆตามลำดับชั้น คือ หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ
ชุมชนตามความหมายดังกล่าวนี้มีข้อจำกัดในแง่มุมความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านของ "สังคม" "วัฒนธรรม" และ "ทรัพยากรธรรมชาติ" ของชุมชน เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และเขตการปกครอง แต่เกี่ยวข้องกับความเป็นเครือญาติ การมีวัฒนธรรมของชนเผ่าเดียวกัน การมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน การใช้ป่าชุมชนร่วมกัน และการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน เป็นต้น อันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถจำกัดได้ด้วยขอบเขตทางกายภาพใดๆ
ความหมายของคำว่า "ชุมชน" อีกความหมายหนึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้เพื่อต่อต้านกระแสการพัฒนาประเทศที่จะพยายามผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ความทันสมัย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เน้นการลงทุนอุตสาหกรรม การเปิดเสรีทางการค้าและระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งกระบวนการพัฒนาแบบนี้มักได้รับการกำหนดและตัดสินใจโดยคนจำนวนน้อย หากแต่ผลของการพัฒนาได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของคนจำนวนมากในสังคม จึงมีกระแสการรวมกลุ่มของประชาชนจากที่ต่างๆ โดยเปิดกว้างให้ทุกคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันมาทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เป็นการเรียกร้อง เพื่อมีส่วนร่วมกับกลไกของภาคราชการและต่างชาติ ในการกำหนดและรับผิดชอบอนาคตของตัวเองและสังคมที่อาศัยอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนในความหมายนี้เรียกได้ว่าเป็น "ชุมชนในจินตนาการ" (imagination community) อันเป็นกระบวนการของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวในอุดมการณ์เชิงอำนาจ เพื่อถ่วงดุลกับอำนาจของรัฐ ธุรกิจเอกชน และต่างชาติ





 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น